กรอบการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงด้านการขนส่งทางบก ระหว่างไทย — ลาว — จีน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 30, 2012 11:55 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงด้านการขนส่งทางบกระหว่างไทย — ลาว — จีน และให้เสนอรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบตามมาตรา 190 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ คค. รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

ข้อเท็จจริง

คค. รายงานว่า

1. ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Cross Border Transport Agreement : CBTA) ร่วมกับลาวและเวียดนาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ต่อมากัมพูชา พม่า และจีน ได้เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงฯดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2546 ความตกลงฯ มีสาระสำคัญครอบคลุมการขนส่งสินค้า ผู้โดยสารและส่งเสริมการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยประเทศภาคีความตกลง CBTA ได้เจรจาในรายละเอียดของภาคผนวกและพิธีสารแนบท้ายความตกลงเสร็จทั้ง 20 ฉบับแล้ว และได้มีการลงนามครบทุกฉบับเมื่อปี พ.ศ. 2550 ซึ่งความตกลง CBTA จะมีผลในทางปฏิบัติต่อเมื่อประเทศสมาชิกทุกประเทศให้สัตยาบันต่อภาคผนวกและพิธีสารครบทุกฉบับ โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารแล้วจำนวน 14 ฉบับ สำหรับภาคผนวกและพิธีสารที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการออกฎหมายเพื่ออนุวัติการภาคผนวกก่อนการดำเนินการให้สัตยาบัน ทั้งนี้ หลักการตามความตกลง CBTA ไม่ได้มีความขัดแย้งกับหลักการของข้อผูกพันต่าง ๆ ที่ประเทศไทยและคู่เจรจาบางประเทศมีอยู่ภายใต้ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariff and Trade : GATT) และความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (General Agreement on Trade in Services : GATS)

2. ในระหว่างที่แต่ละประเทศยังไม่สามารถให้สัตยาบันต่อภาคผนวกและพิธีสารที่ลงนามไปแล้ว ธนาคารพัฒนาเอเชียเห็นว่าควรมีการเริ่มดำเนินการตามความตกลง CBTA ที่บริเวณจุดผ่านแดนนำร่องระหว่างประเทศภาคีคู่สัญญาที่มีดินแดนติดต่อกัน ได้แก่ ลาว — เวียดนาม ไทย — ลาว และไทย — กัมพูชา

3. ประเทศไทยได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง (The Initial Implemmentation of the CBTA : IICBTA) ณ จุดผ่านแดน มุกดาหาร — สะหวันนะเขต (ไทย — ลาว) ลงนามเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 บันทึกความเข้าใจ IICBTA ณ จุดผ่านแดนอรัญประเทศ — ปอยเปต (ไทย — กัมพูชา) ลงนามเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 และบันทึกความเข้าใจ IICBTA ระหว่างไทย — ลาว — เวียดนาม ณ จุดผ่านแดนมุกดาหาร — สะหวันนะเขต (ไทย —ลาว) และจุดผ่านแดนแดนสะหวัน — ลาวบาว (ลาว — เวียดนาม) ลงนามเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2550 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามความตกลง CBTA ในแนวเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก — ตะวันตก (East — West Economic Corridor : EWEC) โดยได้มีการเปิดเดินรถขนส่งระหว่างกันอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2552

4. เนื่องจากการดำเนินการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 เชียงของ — ห้วยทราย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง R3 (กรุงเทพฯ — คุนหมิง) ภายใต้กรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมีกำหนดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2556 ประเทศสมาชิก GMS จะสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทาง R3 (กรุงเพทฯ — ลาว -คุนหมิง) ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยจะช่วยย่นระยะเวลา ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และทำให้ประชาชนในอนุภูมิภาคสามารถเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น สมควรเตรียมความพร้อมในการเปิดการเดินรถขนส่งสินค้าและคนโดยสารระหว่างไทย — ลาว — จีน ในเส้นทางกรุงเทพฯ — ลาว — คุนหมิง โดยให้มีการดำเนินการจัดทำความตกลงระหว่างไทย — ลาว — จีน ในลักษณะเดียวกับที่ประเทศไทยได้จัดทำบันทึกความเข้าใจ IICBTA ระหว่างไทย — ลาว — เวียดนาม ทั้งนี้ การดำเนินการเจรจาจัดทำความตกลงด้านการขนส่งทางบก ระหว่างไทย — ลาว — จีน จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2555 เพื่อทั้งสามประเทศจะสามารถเตรียมการในการดำเนินการตามความตกลง ฯ ได้ทันทีที่มีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพแห่งที่ 4

สาระสำคัญของเรื่อง

          1. วัตถุประสงค์ เพื่อเริ่มดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CBTA) ระหว่างไทย — ลาว — จีน ที่จุดผ่านแดนเชียงของ — ห้วยทราย (ไทย — ลาว) และจุดผ่านแดน          บ่อเต็น — โมฮาน (ลาว — จีน) ในระหว่างที่แต่ละประเทศยังไม่สามารถให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารแนบท้ายความตกลง CBTA ที่ได้ลงนามไปแล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างกัน

2. สิทธิการจราจร การอนุญาตให้มีการประกอบการขนส่งทางถนนของสินค้าและบุคคลระหว่างไทย — ลาว — จีน ตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจเหนือ — ใต้ และให้มีการยอมรับผู้ประกอบการขนส่งซึ่งได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบของแต่ละภาคี

3. การอำนวยความสะดวกพิธีการข้ามแดน การยอมรับการตรวจพร้อมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตั้งเป้าหมายให้มีการตรวจสอบสินค้าเพียงครั้งเดียวต่อไปในอนาคต

4. การขนส่งบุคคลข้ามแดน การนำหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกมาใช้สำหรับการขนส่งบุคคลข้ามแดน

5. การขนส่งสินค้าข้ามแดน การยกเว้นการจัดเก็บภาษีศุลกากรสำหรับสินค้า หรือคอนเทนเนอร์ที่ติดตราประทับศุลกากรที่ใช้ในการขนส่งผ่านแดนสำหรับการขนส่งสินค้าอันตรายจะอนุญาตเป็นกรณี ๆ ไป และการให้สิทธิพิเศษในการตรวจปล่อยสินค้าเน่าเสียง่ายข้ามแดน

6. การยอมรับรถ การยอมรับหนังสือรับรองการจดทะเบียน/แผ่นป้ายทะเบียนและหนังสือรับรองการตรวจสภาพของภาคีอื่น การยอมรับใบอนุญาตขับรถในประเทศซึ่งกันและกัน

7. บทเบ็ดเตล็ด การกำหนดอัตราค่าบริการการขนส่งให้เป็นไปตามกลไกตลาด การจัดตั้งคณะทำงานร่วมไทย — ลาว —จีน เพื่อควบคุมและติดตามการปฏิบัติตามความตกลงฯ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มีนาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ