ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีภายใต้กรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ(BIMSTEC)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 21, 2012 10:40 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีภายใต้กรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการ

และเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ว่าด้วยการลดความยากจน ครั้งที่ 2

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีภายใต้กรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi — Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ว่าด้วยการลดความยากจน ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 15 — 16 มกราคม 2555 ณ กรุงกาฐมาณฑุ ราชอาณาจักรเนปาล

2. เห็นชอบต่อถ้อยแถลงกาฐมาณฑุว่าด้วยการลดความยากจน (Kathmandu Statement on Poverty Alleviation) และแผนปฏิบัติการลดความยากจน (Plan of Action on Poverty Alleviation : PPA) เพื่อจะได้แจ้งให้ราชอาณาจักรเนปาล และฝ่ายเลขานุการการประชุมระดับรัฐมนตรีและระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการลดความยากจนภายใต้กรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ครั้งที่ 2 ทราบอย่างเป็นทางการต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ถ้อยแถลงกาฐมาณฑุว่าด้วยการลดความยากจน (Kathmandu Statement on Poverty Alleviation) ประกอบด้วยเนื้อหาการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก BIMSTEC ในการดำเนินงานเพื่อลดความยากจน โดยสาระสำคัญของถ้อยแถลงกาฐมาณฑุฯ เป็นการกำหนดแนวทางการดำเนินการของประเทศสมาชิกในการลดความยากจนระหว่างประเทศสมาชิก BIMSTEC ในลักษณะความร่วมมือกว้าง ๆ โดยไม่มีการลงนามในถ้อยแถลงกาฐมาณฑุฯ ดังนั้น จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลในเชิงนโยบายตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4 (7)

2. แผนปฏิบัติการลดความยากจน (Plan of Action on Poverty Alleviation : PPA) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดแนวทางการดำเนินการของประเทศสมาชิกภายใต้กรอบ BIMSTEC ว่าด้วยการลดความยากจนในลักษณะของความร่วมมือกว้าง ๆ โดยให้ประเทศสมาชิกนำยุทธศาสตร์และกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการลดความยากจนไปบรรจุไว้ในแผนและโครงการของแต่ละประเทศสมาชิกตามความเหมาะสม ประกอบด้วยยุทธศาสตร์การลดความยากจนหลัก จำนวน 7 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

1. ยุทธศาสตร์การกระตุ้นเศรษฐกิจและการดูแลเอาใจใส่คนยากจนอย่างทั่วถึง

2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคม

3. ยุทธศาสตร์การดำเนินโครงการที่มุ่งการลดความยากจน

4. ยุทธศาสตร์การเพิ่มความคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุมคนจนมากยิ่งขึ้น

5. ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

6. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และ

7. ยุทธศาสตร์การสร้างธรรมาภิบาล

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มิถุนายน 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ