สรุปผลการประชุมหารือเพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจครั้งที่ 4/2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 21, 2012 11:33 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมหารือเพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจครั้งที่ 4/2555 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

ตามที่ นายกรัฐมนตรี มีบัญชาให้มีการประชุมหารือเพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจครั้งที่ 4/2555 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2555 เวลา 10.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือเรื่อง สถานการณ์และการเตรียมการรองรับผลกระทบจากเศรษฐกิจยุโรป โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) นายวีระพงษ์ รามางกูร นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการ สศช. และ รองเลขาธิการ สศช. (นายปรเมธี วิมศิริ) การประชุมมีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้

1. ปัญหาของกรีซเป็นปัญหาจากการที่ประเทศซึ่งมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่างกันเข้ามาร่วมใช้เงินสกุลเดียวกัน ส่งผลให้ขาดนโยบายการเงินในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เช่น ไม่สามารถลดค่าเงินให้เหมาะสมได้ จำเป็นต้องพึ่งนโยบายการคลังเพียงอย่างเดียว ดังนั้น การช่วยเหลือกรีซโดยการให้เงินกู้เพิ่มเติมก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และอาจจะลุกลามไปถึงโปรตุเกส สเปน และอิตาลี และส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในที่สุด จึงเป็นความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง

2. อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสม เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่สถานการณ์เศรษฐกิจในยุโรปอาจส่งผลให้มีเงินไหลออกจากประเทศแถบเอเชีย รวมถึงประเทศไทย

3. ควรมีการวางแผนเตรียมการรองรับผลกระทบทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น โดย

(1) ควรมีข้อมูลของสถาบันการเงินในประเทศแต่ละแห่งว่ามีเงินจากยุโรปที่มีความเสี่ยงที่จะไหลออกอยู่เท่าไร และเตรียมการบริหารสภาพคล่องให้พอเพียงในกรณีที่มีเงินไหลออกเพื่อมิให้กระทบต่อค่าเงินและเศรษฐกิจไทย และ

(2) ในกรณีที่เศรษฐกิจยุโรปกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และส่งผลให้ลูกหนี้ของธนาคารประสบปัญหานั้น ควรเตรียมมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการจัดชั้นเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้พร้อม

4. กระทรวงการคลังควรเตรียมการล่วงหน้าถึงกรณีที่วิกฤติเศรษฐกิจยุโรปกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าจะมีมาตรการใดเหมาะสมที่จะดำเนินการ เช่น การจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น เป็นต้น

5. กระทรวงพาณิชย์ ควรวิเคราะห์ข้อมูลการส่งออกของไทยที่ส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในยุโรป และความเชื่อมโยงถึงห่วงโซ่การผลิตในประเทศลงไปถึงระดับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อเตรียมช่วยเหลือในกรณีที่วิกฤติเศรษฐกิจยุโรปส่งผลถึงการส่งออกและภาคการผลิตของไทย

6. กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาแต่งตั้งผู้แทนพิเศษของไทยในยุโรป ที่คอยติดตามข้อมูลเชิงลึกของสถานการณ์ และประสานกับรัฐบาลของประเทศในยุโรปให้เห็นความสำคัญของประเทศไทย เช่น โอกาสการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ของไทย ที่จะนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรจากยุโรป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ประเทศในยุโรปใช้มาตรการกีดกันการค้าในช่วงเศรษฐกิจยุโรปประสบปัญหา

7. กระทรวงแรงงานควรเตรียมมาตรการช่วยเหลือแรงงานหากประสบปัญหาการเลิกจ้างของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป

8. ควรให้มีการประชุมหารือระหว่างรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ 9 กระทรวงได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพลังงาน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประจำทุกสัปดาห์เพื่อติดตามสถานการณ์และเตรียมมาตรการรองรับได้ทันท่วงที ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) เป็นเจ้าภาพ

9. ควรมอบหมายกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สศช. ตั้งทีมงาน ติดตามสถานการณ์และรายงานข้อมูลอย่างใกล้ชิดต่อนายกรัฐมนตรี

10. ควรแสวงหาโอกาสจากวิกฤติ เช่น เร่งรัดโครงการลงทุนที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศในช่วงที่เงินทุนในโลกต้องการหาแหล่งเงินลงทุนนอกยุโรป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มิถุนายน 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ