(ร่าง) แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2555-2559)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 27, 2012 11:32 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2555-2559) ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ และให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังปรากฏในแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2555-2559) ได้ใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนงานด้านการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2555-2559)

สาระสำคัญของเรื่อง

กก. รายงานว่า

1. เนื่องจากแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2550-2554) ได้สิ้นสุดลงในปี 2554 แล้ว กก. ในฐานะหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการพัฒนากีฬา ได้จัดทำแผนพัฒนากีฬาแห่งชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555-2559) เพื่อเป็นกรอบและทิศทางในการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาการกีฬาของประเทศให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนใช้เป็นแนวทางในการวางแผนปฏิบัติราชการของ กก. ให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาการกีฬาของประเทศ

2. (ร่าง) แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2555-2559) มีสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 วัตถุประสงค์

2.1.1 เพื่อส่งเสริมให้คนไทยได้รับโอกาสในการออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ สร้างค่านิยมวิถีชีวิตรักการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย สู่การมีสุขภาพและสมรรถภาพที่ดี

2.1.2 เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสังคมทุกภาคส่วนในการใช้กิจกรรมการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาเป็นสื่อสร้างสังคมที่มีน้ำใจนักกีฬา มีคุณธรรม จริยธรรม และสามัคคีสมานฉันท์

2.1.3 เพื่อจัดหาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการกีฬาให้เพียงพอ โดยเฉพาะสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สนามกีฬา วัสดุอุปกรณ์ที่ทันสมัย รวมทั้งการจัดให้มีผู้ฝึกสอนและอาสาสมัครการกีฬาประจำศูนย์และสนามกีฬา

2.1.4 เพื่อปรับบทบาทของกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ให้สนับสนุนภารกิจในการพัฒนานักกีฬาตั้งแต่ระดับเด็กและเยาวชน โดยจัดให้มีทุนการศึกษาและทุนสนับสนุนแก่เด็กและเยาวชนที่มีความสามารถและมีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้มีความสามารถสูงด้านกีฬาในระดับนานาชาติ ให้สามารถพัฒนาเป็นนักกีฬาทีมชาติที่สร้างชื่อเสียงและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนของประเทศ

2.1.5 เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนและการบริจาค เพื่อพัฒนาการกีฬาด้วยมาตรการจูงใจที่เหมาะสม เช่น มาตรการภาษี มาตรการส่งเสริมการลงทุน และมาตรการการเงิน ภายใต้ความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล

2.1.6 เพื่อพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การกีฬามาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง เพื่อพัฒนากีฬาที่มีศักยภาพไปสู่กีฬาอาชีพ รวมทั้งพัฒนาผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสินให้ได้มาตรฐานสากล

2.1.7 เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการองค์กรกีฬา เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการบริหารจัดการกีฬาในทุกมิติอย่างเป็นระบบ

2.1.8 เพื่อสนับสนุนให้ผู้พิการเข้าถึงการกีฬาและการแข่งขันกีฬาในทุกระดับ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นนักกีฬาที่มีความสามารถในนามทีมชาติไทยในการแข่งขันกีฬาและมหกรรมกีฬาต่างๆ

2.1.9 เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางกีฬาของภูมิภาคและของโลก จัดให้มีการแข่งขันกีฬาและกีฬาคนพิการระดับโลกที่สำคัญ ๆ ตลอดจนการประชุมเกี่ยวกับกีฬาระดับภูมิภาคและ ระดับโลก เพื่อเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว โดยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายเป็น “ทีมไทยแลนด์”

2.2 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

1) ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาการออกกำลังกายและการกีฬาขั้นพื้นฐาน

2) ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาการออกกำลังกายและการกีฬาเพื่อมวลชน

3) ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ

4) ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาการกีฬาเพื่อการอาชีพ

5) ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา

6) ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาการบริหารการกีฬาและการออกกำลังกาย

2.3 เป้าหมายหลัก

1) เด็กและเยาวชนทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน อย่างน้อย ร้อยละ 80 มีความรู้ ความเข้าใจ มีเจตคติ และทักษะในการออกกำลังกายและการกีฬาขั้นพื้นฐาน มีคุณธรรม จริยธรรม มีระเบียบวินัยและน้ำใจนักกีฬาตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ รวมทั้ง สามารถออกกำลังกายและเล่นกีฬา ชมและเชียร์กีฬาตามระเบียบ และกฎ กติกา

2) เด็กและเยาวชนทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน อายุ 3 -11 ปี อย่างน้อยร้อยละ 80 มีทักษะพื้นฐานการเคลื่อนไหวพื้นฐาน เช่น การเดิน วิ่ง กระโดด ปีนป่าย ยืดหยุ่นและการเล่นผาดโผน ตามเกณฑ์ความสามารถของแต่ละระดับอายุ

3) เด็กและเยาวชนทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน อายุ 12—18 ปี อย่างน้อยร้อยละ 80 มีทักษะพื้นฐานการเล่นกีฬาอย่างน้อย 1 ชนิดกีฬา ตามความสามารถของเพศและอายุ

4) เด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางการกีฬา ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อพัฒนาความสามารถทางการกีฬาสู่ความเป็นเลิศอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

5) ประชาชนทุกกลุ่ม ร้อยละ 60 เล่นกีฬาและออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมออย่างน้อย สัปดาห์ละ 3 วัน ๆ ละไม่น้อยกว่า 30 นาที และร้อยละ 50 มีสุขภาพดีและสมรรถภาพอยู่ในเกณฑ์ดี

6) ชุมชนระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 25 มีสถานที่บริการด้านกีฬาและการออกกำลังกายตามเกณฑ์มาตรฐาน

7) ประเทศไทยเป็นเจ้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในชนิดกีฬาสากล ที่มีการแข่งขันในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์และโอลิมปิกเกมส์ โดยอยู่ในอันดับ 1-5 จากการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ และอยู่ในอันดับ 1-5 ของเอเชียจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์

8) มีสถาบันผลิตและพัฒนาผู้ฝึกสอนในระดับชาติและนานาชาติ และมีสถานกีฬาเพื่อการฝึกซ้อมและแข่งขันที่ได้มาตรฐานในแต่ละระดับในทุกจังหวัด

9) จำนวนบุคลากรกีฬาอาชีพและนักกีฬาอาชีพเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งนักกีฬาอาชีพมีผลงาน หรือ ระดับความสามารถที่ได้มาตรฐานนานาชาติ (International ranking) โดยเฉลี่ยดีขึ้น

10) ระบบการจัดการแข่งขันกีฬาอาชีพได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีระบบการวางแผนการประชาสัมพันธ์ สวัสดิการและการติดตามผลด้านกีฬาอาชีพมากขึ้น

11) จำนวนรายได้จากผู้สนับสนุนการดำเนินงานด้านการพัฒนากีฬาเพื่อการอาชีพ จากภาครัฐและภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น

12) จำนวนบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาในองค์กรวิทยาศาสตร์การกีฬา ระดับชาติ ระดับภาค ระดับจังหวัด และในสมาคมกีฬาต่าง ๆ เพิ่มขึ้น

13) มีองค์กรวิทยาศาสตร์การกีฬาระดับชาติ ระดับภาค ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ

14) มีการศึกษา วิจัย และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา

15) มีเครื่องมือและอุปกรณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬาระดับชาติ ระดับภาค ระดับจังหวัดอย่างน้อย 3 หมวดเครื่องมือ คือ เครื่องมือทางชีวกลศาสตร์การกีฬา เครื่องมือทางสรีรวิทยาการออกกำลังกายและกีฬา และเครื่องมือทางเวชศาสตร์การกีฬา

16) หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ องค์กร สมาคม ชมรมที่เกี่ยวข้องด้านการกีฬา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริหารจัดการกีฬา เพื่อเตรียมการรองรับการเข้าร่วมประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2558 ให้มีประสิทธิภาพ อย่างน้อยร้อยละ 60

17) มีคณะกรรมการการกีฬาที่มีบทบาทในการบริหารงานการกีฬา อย่างน้อยจำนวน 1 คณะกรรมการ ครบทุกระดับ ได้แก่ ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และระดับชาติ

18) มีฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศด้านการกีฬาในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับ ตำบล อำเภอ จังหวัด และระดับชาติ มีการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาในทุก ๆ ด้านให้ทันสมัยและสามารถรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2558 มีกองทุนในการพัฒนาการกีฬาและสวัสดิการของนักกีฬาทุกระดับ ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัดและระดับชาติ รวมทั้งมีระบบ กลไก การติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้านการกีฬาและการออกกำลังกาย ทุกระดับ ตั้งแต่ตำบล อำเภอ จังหวัด และระดับชาติ

2.4 การขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ

2.4.1 การบริหารดำเนินการและการประสานแผน แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้

1) ระดับนโยบาย มีคณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติ กำกับดูแลนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายและการกีฬา พิจารณากำหนดนโยบายเสนอความเห็นก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบและสั่งการ

2) ระดับการผลักดันแผน มีสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติ ทำหน้าที่ในการนำนโยบายและข้อสั่งการในระดับนโยบาย แจ้งประสานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งติดตามความก้าวหน้า การดำเนินการวิจัยเชิงนโยบาย นำเสนอข้อแนะนำและปัญหาอุปสรรคเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติ

3) ระดับปฏิบัติการ ประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายและการกีฬา สมาคมกีฬา ชมรมกีฬา สโมสรกีฬา มหาวิทยาลัย สถานศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ เป็นผู้รับนโยบายจากคณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีไปปฏิบัติ

4) การผลักดันแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2555-2559) ไปสู่การปฏิบัติในระดับต่าง ๆ ดังนี้

4.1) ระดับส่วนกลาง เพื่อให้มีการบูรณาการแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2555-2559) และแผนในระดับชาติที่เกี่ยวข้อง นำไปกำหนดเป็นกรอบของหน่วยงานและจัดทำแผนปฏิบัติราชการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นหน่วยงานหลักในการประสานการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ

4.2) ระดับจังหวัด เพื่อให้มีการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติในระดับจังหวัด และกลุ่มจังหวัด โดยผลักดันให้การพัฒนาการออกกำลังกายและการกีฬา ไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์จังหวัด และกลุ่มจังหวัด และมีแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการกีฬาของจังหวัด และกลุ่มจังหวัด โดยมีศูนย์การท่องเที่ยว กีฬาและนันทนาการจังหวัด เป็นหน่วยงานหลักในการประสานการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติรวมทั้งผลักดันให้เขตพื้นที่การศึกษา สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในระดับภาค/จังหวัดในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น

4.3) ระดับท้องถิ่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งผู้นำชุมชน ได้นำเป้าหมาย มาตรการและแนวทางไปบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการของหน่วยงาน และมีดำเนินการจัดทำโครงการ/กิจกรรมเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน

2.4.2 การสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพของหน่วยปฏิบัติ

1) การส่งเสริมและสนับสนุนด้านวิชาการ

2) การสนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อดำเนินงานในกิจกรรม โครงการต่าง ๆ ที่บรรจุในแผนพัฒนา

การกีฬาแห่งชาติในทุกประเด็นยุทธศาสตร์

3) การสนับสนุนและพัฒนากลไกการประสานงาน โดยการสร้างเครือข่ายด้านการกีฬา

2.5 กลไกการแปลงแผนสู่การปฏิบัติ

2.5.1 ให้มีคณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างองค์กรระดับชาติ

2.5.2 มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละแผนงาน ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างองค์กรระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น

2.5.3 การให้สมาคมกีฬาชนิดต่าง ๆ เข้ามามีส่วนในการเสนอแนวนโยบายและผลักดันการพัฒนาการกีฬาตามแผนพัฒนาการกีฬาของชาติ

2.5.4 ใช้บันทึกความเข้าใจด้านการกีฬา (MOU) เป็นกลไกสนับสนุนการบูรณาการงานด้านการกีฬาร่วมระหว่างหน่วยงาน

2.5.5 นำแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เป็นกรอบและแนวทางในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ และการบูรณาการงบประมาณในระดับต่าง ๆ

2.5.6 สร้างความรู้ ความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญและพร้อมเข้าร่วมในการผลักดันแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติผ่านกระบวนการและเครื่องมือต่าง ๆ

2.5.7 จัดทำสื่อสารประชาสัมพันธ์ โดยใช้หลักการตลาดสร้างความตระหนักและยอมรับแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติเป็นเครื่องมือในการพัฒนาแบบบูรณาการที่ทุกภาคีสามารถนำไปปรับใช้ให้บังเกิดผลได้จริง

2.5.8 พัฒนาการบริหารจัดการแผนการกีฬาแห่งชาติอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล โดยนำแนวคิดวงจรคุณภาพ PDCA มาปรับใช้ได้ เริ่มตั้งแต่จัดทำยุทธศาสตร์ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ตัวชี้วัด มาตรการ รวมทั้งกระบวนการวิธีการและเครื่องมือต่างๆ ในการกำกับ การบริหารจัดการแผนไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ โดยทุกภาคส่วนมีการปฏิบัติงานภายใต้ระบบที่ออกแบบไว้อย่างจริงจัง รวมถึงตรวจสอบ ติดตามความก้าวหน้า การประเมินผลที่สะท้อนถึงความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อผลการพัฒนาที่เกิดขึ้น นำไปสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนการและวิธีการดำเนินงานให้การขับเคลื่อนแผนบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด

2.5.9 สร้างความเข้าใจให้ภาคการเมืองในเป้าหมายและแนวทางของแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และผลักดันให้นำประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญไปผสมผสานในการจัดทำนโยบายของพรรคและนโยบายของรัฐบาล

2.6 การติดตามและประเมินผล

2.6.1 ให้มีกลไกองค์กรหรือคณะกรรมการทำหน้าที่ติดตามและประเมินผลแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2555-2559)

2.6.2 พัฒนาระบบฐานข้อมูล ทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จังหวัด และระดับชาติ ให้ได้มาตรฐาน ทันสมัย ต่อเนื่อง และสามารถสร้างความเข้าใจในระหว่างผู้เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

2.6.3 จัดประชุมสัมมนาเพื่อระดมความคิด การวางแผน การปฏิบัติตามแผนพัฒนาการติดตามประเมินผลในระดับท้องถิ่น ภูมิภาคและระดับชาติ พร้อมทั้งให้มีการจัดประชุมติดตามประเมินผลประจำปี โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง ได้มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง

2.6.4 สร้างตัวชี้วัดเพื่อเป็นเครื่องมือบ่งบอกถึงความสำเร็จและผลกระทบของการดำเนินงานตามแผนพัฒนาฯ ให้ครอบคลุมทั้งด้านปัจจัย กระบวนการ ผลสำเร็จ และผลกระทบของการพัฒนา ทั้งนี้หน่วยงานรับผิดชอบด้านการออกกำลังกายและการกีฬา ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาควรมีบทบาทสำคัญในการกำหนดตัวชี้วัด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มิถุนายน 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ