การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป. ลาว สำหรับโครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำในนครหลวงเวียงจันทน์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 27, 2012 13:18 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) สำหรับโครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำในนครหลวงเวียงจันทน์ ในวงเงิน 95.40 ล้านบาท โดยมีขอบเขตการดำเนินโครงการตามนัยข้อ 3.1 โดยใช้แหล่งเงินทุนและเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามนัยที่กล่าวใน ข้อ 5

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลัง รายงานว่า

1. สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (9 มีนาคม 2553) สพพ. ได้ลงนามในสัญญาความช่วยเหลือทางการเงินกับ สปป. ลาว เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2553 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการตามนัยที่กล่าวข้างต้น พร้อมทั้งได้รายงานผลการลงนามให้คณะรัฐมนตรีรับทราบตามมติคณะรัฐมนตรี (21 กันยายน 2553)

2. โดยที่การปรับปรุงระบบระบายน้ำในนครหลวงเวียงจันทน์ภายใต้โครงการที่กล่าวข้างต้นยัง ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น สปป. ลาว จึงได้มีหนังสือขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก สพพ. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงานปรับปรุงระบบระบายน้ำในนครหลวงเวียงจันทน์ตามนัยที่กล่าวต่อไป

3. กระทรวงการคลัง โดย สพพ. ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปประเมินโครงการร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ สปป. ลาว เพื่อรับทราบข้อเท็จจริงและขอบเขตการดำเนินงานของโครงการดังกล่าวตามที่ สปป. ลาว เสนอ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

3.1 ขอบเขตของโครงการ ประกอบด้วย งานปรับปรุงบึงหนองด้วงน้อยให้เป็นแก้มลิงย่อย งานปรับปรุงร่องระบายน้ำหนองด้วงน้อย (Drainage Channel) และงานก่อสร้างทางบริการ (Service Road) และระบบระบายน้ำชั่วคราว

3.2 โครงการนี้ไม่มีประชาชนได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินและไม่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นการปรับปรุงบึงและร่องระบายน้ำเดิมที่มีอยู่แล้วให้สามารถระบายน้ำได้ดียิ่งขึ้น

3.3 สปป. ลาว ได้จัดทำแบบรายละเอียดสำหรับงานก่อสร้างสำหรับโครงการดังกล่าวไว้เสร็จเรียบร้อย เมื่อได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลไทย ก็สามารถเริ่มดำเนินงานได้ทันที

3.4 ค่าใช้จ่ายงานปรับปรุงระบบระบายน้ำฯ ตามข้อ 3.1 ประกอบด้วย 1) ค่างานโยธา 91.10 ล้านบาท 2) ค่าวิศวกรที่ปรึกษาควบคุมงาน 3.00 ล้านบาท 3) ค่าบริหารจัดการ 1.30 ล้านบาท รวม 95.40 ล้านบาท

4. สพพ. ได้ประเมินผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการดังกล่าวแล้ว มีความเห็น ดังนี้

4.1 การปรับปรุงระบบระบายน้ำตามขอบเขตของงานที่กล่าวในข้อ 3.1 จะเป็นการก่อสร้างระบบระบายน้ำส่วนสุดท้าย ซึ่งจะทำให้การระบายน้ำในนครหลวงเวียงจันทน์มีความเชื่อมโยงกับโครงการที่ สพพ. ให้ความช่วยเหลือแก่ สปป. ลาว ไปก่อนหน้านี้จำนวน 2 โครงการ คือ 1) โครงการก่อสร้างร่องระบายน้ำฮ่องวัดไต และ 2) โครงการปรับปรุงถนนและระบบระบายน้ำในนครหลวงเวียงจันทน์ และจะทำให้โครงข่ายการระบายน้ำจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปยังแม่น้ำโขงมีความสมบูรณ์และมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

4.2 โครงการนี้จะทำให้ประชาชนในบริเวณพื้นที่โครงการ คือ เมืองจันทบุรีและเมืองสีโคตรบองประมาณ 3 แสนคนได้รับประโยชน์ โดยจะไม่ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมขังและน้ำเน่าเสียในช่วงฤดูฝนอันมีสาเหตุจากระบบระบายน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการให้ความช่วยเหลือตามที่กล่าวจะเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีให้แก่ประชาชนชาวลาวที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้

4.3 การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป. ลาว นอกจากจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการสนับสนุนนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลได้โดยตรงแล้ว ยังจะเป็นการสนับสนุนการใช้สินค้าไทย เนื่องจากเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป. ลาว ดังกล่าว กำหนดให้ใช้สินค้าจากประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ

5. แหล่งเงินและเงื่อนไขทางการเงินเนื่องจากโครงการนี้เป็นการลงทุนเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเมือง ซึ่งมีผลตอบแทนในการลงทุนต่ำ จึงเห็นสมควรให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป. ลาว ในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน โดยใช้เงินทุนจากเงินสะสมของ สพพ. ดังมีข้อสรุปรายละเอียดเงื่อนไขของสัญญาฯ ดังนี้

5.1 วงเงินให้ความช่วยเหลือ 95.40 ล้านบาท (เงินกู้ทั้งจำนวน)

5.2 อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1.5 ต่อปี

5.3 อายุสัญญา 20 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 5 ปี)

5.4 ค่าบริหารจัดการของ สพพ. ร้อยละ 0.15 ของวงเงินกู้

5.5 กำหนดชำระดอกเบี้ย ปีละ 2 ครั้ง

6. เงื่อนไขอื่นๆ

1) สปป. ลาว ต้องใช้ผู้รับเหมาก่อสร้างและวิศวกรที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างที่เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้ดำเนินโครงการก่อสร้าง

2) สปป. ลาว ต้องใช้สินค้าและบริการภายใต้โครงการดังกล่าวจากประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของวงเงินให้ความช่วยเหลือ

3) สัญญาให้ความช่วยเหลือทางการเงินระหว่าง สพพ. กับ สปป. ลาว อยู่ภายใต้กฎหมายไทย

4) ในกรณีที่ สปป. ลาว จะให้ภาคเอกชนเข้าดำเนินธุรกิจหรือกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการ สพพ. ขอให้ สปป. ลาว พิจารณาให้สิทธิ์ดำเนินการดังกล่าวแก่ภาคเอกชนไทยเป็นลำดับแรก

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มิถุนายน 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ