กรอบการเจรจาการจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (VPA)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 12, 2012 11:15 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง กรอบการเจรจาการจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (VPA) ในการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้

ธรรมาภิบาล และการค้า (FLEGT) ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป (EU)

คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแล้ว มีมติเห็นชอบกรอบการเจรจาดังกล่าว เห็นควรให้นำเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญต่อไป และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการ เพื่อเตรียมความพร้อมและช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ของประเทศไทยโดยมีการรับรองแหล่งที่มาของไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อันเป็นการป้องกันการค้าไม้ที่ผิดกฎหมาย

สาระสำคัญของกรอบการเจรจา มีดังนี้

1. การกำหนดคำนิยามและกรอบสินค้าประเภทไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ของประเทศไทย

2. กำหนดการรับรองแหล่งที่มาของไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ประเทศไทยส่งออกสู่ตลาดสหภาพยุโรป

3. การปรับปรุงและกำหนดหลักเกณฑ์และระเบียบปฏิบัติในการรับรองแหล่งที่มาของไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ไม่สร้างภาระต้นทุนที่ไม่เหมาะสมและอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยรวมทั้งการลดอุปสรรคทางการค้าของสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ของประเทศไทยให้มากที่สุดเพื่อขยายการส่งออกสินค้าประเภทนี้ของไทยอย่างยั่งยืน

4. ให้มีมาตรการป้องกันและเยียวยาสำหรับผู้ประกอบอุตสาหกรรมไม้ประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากกฎระเบียบการทำ VPA

5. ให้มีกลไกการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

6. ให้มีมาตรการช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป เช่น การสนับสนุนจากสหภาพยุโรปให้ใช้สินค้าไม้ของประเทศไทย ผ่านทางการจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Procurement) การเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมไม้ของประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นต้น

7. ให้มีการเจรจาเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในภาพรวม

สำหรับสินค้าที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว ได้แก่ สินค้าไม้ และผลิตภัณฑ์ไม้ ซึ่งครอบคลุมพิกัดอัตราศุลกากรตามระบบฮาร์โมไนซ์ (HS 2 หลัก) คือ สินค้าภายใต้รหัส HS 44 ไม้และของทำด้วยไม้ เช่น ถ่านไม้ ไม้อัด เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร/ในครัวทำด้วยไม้ สินค้าภายใต้รหัส HS 47 เยื่อไม้ สินค้าภายใต้รหัส HS 48 กระดาษ และสินค้าภายใต้รหัส HS 94 เฟอร์นิเจอร์ทำด้วยไม้ ในปี 2554 ประเทศไทยส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ไปสหภาพยุโรป โดยแยกตามพิกัดอัตราศุลกากรภายใต้รหัส HS 44 ไม้และของทำด้วยไม้คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,200 ล้านบาท และภายใต้รหัส HS 94 เฟอร์นิเจอร์ทำด้วยไม้คิดเป็นมูลค่าประมาณ 7,500 ล้านบาท และภายใต้รหัส HS 94 เฟอร์นิเจอร์ทำด้วยไม้คาดว่าถ้าหากประเทศไทยไม่เร่งการเจรจา VPA กับสหภาพยุโรปอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจไม้และผลิตภัณฑ์ไม้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 ธันวาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ