ขอความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 12, 2013 17:31 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐ

ประชาธิปไตยประชาชนลาวว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริมการทำเกษตรแบบมีสัญญาภายใต้ยุทธศาสตร์

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้

1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริมการทำเกษตรแบบมีสัญญาภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS)

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ข้างต้น

3. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก

ทั้งนี้ การดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจนี้จะต้องถือปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2556 [เรื่องแผนการลงทุนเกษตรแบบมีสัญญากับประเทศเพื่อนบ้าน (Contract farming) ภายใต้ ACMECS ประจำปี 2556] และให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์การประกาศใช้อย่างทั่วถึงไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีดังนี้

1) วัตถุประสงค์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการของไทยในการนำเข้าสินค้าเกษตรเป้าหมายซึ่งประเทศไทยผลิตไม่เพียงพอและมีนโยบายส่งเสริมให้ไปปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ไทยมีความมั่นคงในเรื่องผลิตผลทางการเกษตรซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจะเป็นไปตามความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA) ซึ่งไทยมีพันธกรณีไว้แล้วภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) โดยทั้งสองประเทศยังสามารถคงสิทธิในการใช้มาตรการภายใน

2) เนื้อหา ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ประกอบด้วย 6 ส่วน ได้แก่ (1) การตลาดหรือประเด็นเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรที่ทั้งสองประเทศกำหนด (2) กลไกการประสานงาน (3) การอำนวยความสะดวก (4) ความร่วมมือทางวิชาการ (5) การระงับข้อพิพาทอย่างฉันมิตร (6) การมีผลบังคับใช้และยกเลิกบันทึกความเข้าใจฯ

3) การดำเนินการ ในการดำเนินการแต่ละปีคณะกรรมการจัดทำแผนการลงทุนเกษตรแบบมีสัญญากับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องและกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เป็นฝ่ายเลขานุการจะจัดทำแผนการลงทุนซึ่งจะกำหนดชนิดพืชเป้าหมาย พื้นที่ และผู้ประกอบการ นอกจากนี้ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ได้กำหนดให้ทั้งสองฝ่ายตั้งคณะกรรมการร่วมทวิภาคี (Joint Bilateral Working Committee) เพื่อเป็นกลไกประสานงานและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น โดย พณ. และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานประสานงานของไทยในคณะกรรมการดังกล่าว

4) สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนที่ร่วมโครงการ เช่น การให้ข้อมูล การจัดหาที่ดิน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการนำผลผลิตจาก สปป.ลาวเข้าประเทศไทย และประเด็นสำคัญคือ สปป.ลาวจะให้สิทธิพิเศษทางภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบการที่ลงทุนภายใต้โครงการนี้ในการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ เช่น เครื่องจักร ปุ๋ย และเมล็ดพันธุ์พืช

5) การระงับข้อพิพาท ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ไม่มีข้อบทให้ระงับข้อพิพาทด้วยการบังคับทางกฎหมายแต่กำหนดให้ใช้วิธีการปรึกษาหารือในคณะกรรมการร่วมทวิภาคี

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มีนาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ