แผนการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่ได้มาจากสัญญาสัมปทาน และแนวทางการขอปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 20, 2013 16:48 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง แผนการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่ได้มาจากสัญญาสัมปทาน และแนวทางการขอปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่

ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) ประธานกรรมการเสนอดังนี้

1. รับทราบแผนการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่ได้มาจากสัญญาสัมปทาน และแนวทางการขอปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เนื่องจากเป็นการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 เพื่อประโยชน์ของประชาชน ประเทศชาติและองค์กร โดยการนำทรัพย์สินโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G ที่รับมอบจากคู่สัญญาสัมปทาน มาให้บริการได้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของ กสท และลูกค้าเฉพาะกลุ่มของ ทีโอที ได้รับบริการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการพัฒนาต่อยอดโครงข่ายโทรศัพท์ 2G เป็นโครงข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงไร้สายด้วยเทคโนโลยี Long Term Evolution (LTE) ให้กระจายทั่วภูมิภาค สร้างความเท่าเทียมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลในการเข้าถึงเทคโนโลยี ICT

2.รับทราบให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นผู้แทนในการเจรจากับสำนักงานกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ตามแผนและมาตรการฯ ของ กสท และ ทีโอที

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) รายงานว่า บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (กสท) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (ทีโอที) ได้ดำเนินการจัดทำแผนการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่ได้มาจากสัญญาสัมปทาน และแนวทางการขอปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ ดังนี้

1. แนวทางดำเนินการของ กสท. ประกอบด้วย

1.1 แผนและมาตรการเร่งด่วนเพื่อให้บริการภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

1.1.1 การดูแลผู้ใช้บริการหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน เนื่องจากสัญญาสัมปทานระหว่าง กสท กับบริษัท ทรูมูฟ และ กสท กับบริษัท ดีพีซี จะสิ้นสุดในวันที่ 15 กันยายน 2556 ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุด กสท จึงต้องดำเนินการบริหารจัดการโครงข่ายด้วยตนเองเพื่อให้บริการผู้ใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุด ซึ่ง กสท คาดว่า หลังวันที่ 15 กันยายน 2556 กสท จะต้องให้บริการโทรศัพท์ 2G แก่ผู้ใช้บริการด้วยตนเองจำนวน 13 ล้านเลขหมาย และคาดว่าในปี 2561 ภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของ บมจ. แทค จะเหลือลูกค้า 2G ประมาณ 5 ล้านเลขหมาย ประกอบด้วยผู้ใช้บริการ ภายใต้สัญญาสัมปทานบริษัท ทรูมูฟ 2 ล้านเลขหมาย ลูกค้าบริษัท แทค หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน (15 กันยายน 2561) จำนวน 3 ล้านเลขหมาย

1.1.2 แนวทางการบริหารจัดการโครงข่ายและการให้บริการ เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน กสท จะเข้าควบคุมและบริหารจัดการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทผู้รับสัมปทาน โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการแยกตามองค์ประกอบของโครงข่าย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

(1) กสท จะเป็นผู้วางแผน ออกแบบ ควบคุมและบริหารจัดการระบบ Radio Access Network (RAN), Core Network (CN และระบบ Network Operation Center (NOC) ด้วยตนเอง โดยจะว่าจ้างบริษัทที่มีประสบการณ์มาช่วยปฏิบัติงานบางส่วนในลักษณะ Co-source เพื่อถ่ายทอดความชำนาญเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อน กสท จะดำเนินการทั้งหมดเองภายหลัง

(2) กสท จะว่าจ้างบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานปรับปรุงคุณภาพสัญญาณนอกสถานที่ (งาน Field Operation และ RF Optimization) และด้านการบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาดำเนินการในลักษณะ Outsource โดยมีการกำหนด Service Level Agreement (SLA) ที่ชัดเจน เพื่อให้คุณภาพการให้บริการเป็นไปตามมาตรฐานสากลและลดต้นทุนด้านปฏิบัติการของ กสท

(3) กสท มีความพร้อมในการให้บริการต่อจากบริษัทคู่สัญญาสัมปทาน โดยสามารถให้บริการกับผู้ใช้บริการผ่านช่องทางการจำหน่ายและให้บริการที่ กสท ดำเนินการเอง ได้แก่ สำนักงานบริการลูกค้า และ CAT Shop เป็นต้น และที่ กสท ดำเนินการผ่านทางพันธมิตร เช่น ไปรษณีย์ไทย ธนาคารต่าง ๆ ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น ซึ่ง กสท อยู่ระหว่างการดำเนินการขยายช่องทางการให้บริการให้มีความครอบคลุมเทียบเคียงกับที่คู่สัญญาสัมปทานเดิมให้บริการอยู่ในปัจจุบัน

1.2 แผนและแนวทางการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาล

1.2.1 กสท มีแนวคิดที่จะนำทรัพย์สินโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G ที่รับโอนจากคู่สัญญาสัมปทาน นอกจากดำเนินการบริหารจัดการโครงข่าย 2G ด้วยตนเอง กสท ยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาโครงข่ายดังกล่าว เป็นโครงข่ายให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สาย ด้วยเทคโนโลยี 4G หรือ LTE ซึ่งมีต้นทุนในการดำเนินการต่ำกว่าการลงทุนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบมีสาย และสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงและใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้อย่างทั่วถึงในราคาที่เหมาะสม และด้วยรูปแบบการให้บริการโดย กสทเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายหลัก (Network Provider) ขายส่งบริการให้แก่ Mobile Virtual Network Poerator (MVNO) นำไปให้บริการแก่ผู้ใช้บริการ (Service Provider) จะส่งเสริมให้เกิดผู้ให้บริการรายย่อย ประชาชนมีทางเลือกในการเลือกใช้บริการมากยิ่งขึ้น เป็นการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมให้เกิดการแข่งขันมากยิ่งขึ้น

1.2.2 แผนการลงทุนพัฒนาโครงข่าย LTE

จากแนวคิดการนำสินทรัพย์โครงข่าย 2G ที่ กสท มีอยู่ และที่ได้รับโอนจากคู่สัญญาสัมปทานมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ประเทศชาติ และ กสท ด้วยการพัฒนาเป็นโครงข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงไร้สายด้วยเทคโนโลยี LTE โดยในเบื้องต้น กสท ได้ประเมินมูลค่าลงทุนเพื่อการพัฒนาโครงข่าย จากที่มีอยู่เดิม 13,000 สถานี (เป็น 14,000 สถานี) เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 27,770 ล้านบาท ในช่วง 2557 — 2563 ทำให้โครงข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงครอบคลุมประชากรกว่า 95% เป็นการสนับสนุนให้นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พ.ศ. 2554-2563 บรรลุตามเป้าหมาย

2. แนวทางการดำเนินงานของ ทีโอที

2.1 แนวทางการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ 470 MHz

ทีโอที ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ NMT 470 มาตั้งแต่ปี 2529 เนื่องจาก จุดเด่นระบบ NMT 470 เป็นย่านความถี่ต่ำ รัศมีการติดต่อเป็นวงกว้าง จึงมีพื้นที่ครอบคลุมการใช้งานมากกว่าระบบอื่น ทีโอที จึงยังคงต้องให้บริการโครงข่าย NMT 470 เพื่อประโยชน์สูงสุดในการใช้งานโครงข่ายและลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนบางส่วน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร แนวชายแดนหรือชายฝั่งทะเลบางส่วนช่วยเติมเต็มการสื่อสารของประเทศในจุดที่ขาดหายไป โดยได้พัฒนาให้เป็นโทรศัพท์พื้นฐานนอกข่ายสายและโทรศัพท์สาธารณะทางไกลชนบท และ ทีโอที ยังใช้ช่วยเหลือประชาชนในขณะที่เกิดอุทกภัยและสึนามิ อย่างไรก็ดีแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการขยายโครงข่ายด้วยเทคโนโลยีอื่น ให้เข้าไปถึงครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นทำให้ฐานลูกค้าที่ใช้บริการ NMT 470 ลดลงแต่ยังมีลูกค้าอีกจำนวนหนึ่งที่ยังมีความต้องการใช้บริการนี้ ซึ่ง ทีโอที จะขอใช้คลื่นความถี่ NMT 470 สำหรับให้บริการลูกค้ากลุ่มนี้ให้ได้รับบริการอย่างต่อเนื่องต่อไป

ปัจจุบัน ณ กุมภาพันธ์ 2556 ทีโอที มีลูกค้าอยู่ในระบบ NMT 470 อยู่จำนวน 24,083 เลขหมาย โดยกระจายตัวอยู่ 75 จังหวัด ใน 5,100 ตำบลทั่วประเทศ (ไม่รวมพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร) ในจำนวนนี้เป็นหน่วยงานราชการ รวมถึงการดำเนินงานในส่วนพระองค์ และกรมราชองค์รักษ์ ประมาณ 2,475 เลขหมาย รวมถึงในส่วนราชการสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 576 เลขหมาย จึงเป็นการใช้ประโยชน์ของโครงข่ายให้เกิดประโยชน์ด้วยการกระจายไปยังทุกภาคส่วนโครงข่าย NMT 470 ของ ทีโอที จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้แก่ประชาชน

2.2 แนวทางการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ 2300 MHz

คลื่นความถี่ 2300 MHz ปัจจุบัน ทีโอที ใช้งานด้วยเทคโนโลยี TDMA แต่ทิศทางของเทคโนโลยีบนคลื่นความถี่นี้ในปัจจุบันคือ WiMAX (IEEE 802.16e) และกลุ่ม 3GPP ได้กำหนดคลื่นความถี่ 2300 MHz ไว้เป็นเทคโนโลยี LTE-Advance โหมดการส่งแบบ TDD ดังนั้น อนาคตของเทคโนโลยีในคลื่นความถี่ 2300 MHz คือเทคโนโลยี WiMAX (IEEE 802.16e) หรือ TDD LTE ซึ่งในปัจจุบันจะเรียกกันว่า 4G ทีโอที มีแนวทางจะนำคลื่นความถี่ 2300 MHz มาใช้พัฒนาโครงข่ายให้บริการสื่อสารความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี LTE เพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลให้สามารถกระจายโครงสร้างพื้นฐาน ICT ให้กระจายทั่วประเทศ

2.3 ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินการ

2.3.1 ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G เดิมภายใต้สัญญาสัมปทานจำนวน 13 ล้านเลขหมาย สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผู้ให้บริการจาก บมจ.ทรูมูฟ และ บมจ.ดีแทค และ บมจ. ดีพีซี เป็น กสท ผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการ NMT 470 ของ ทีโอที จำนวน 24,083 เลขหมาย ทั้งประเทศสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง

2.3.2 กสท และ ทีโอที สามารถนำทรัพย์สินที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของ กสท ตามนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภาข้อ 3.1.6 “ปรับปรุงโครงสร้างของรัฐวิสาหกิจโดยมุ่งเน้นประสิทธิภาพการให้บริการ การบริหารทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด” และนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศข้อ 3.6.3 “ส่งเสริมการใช้คลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรของชาติให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ”

2.3.3 กสท และทีโอที สามารถตอบสนองนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศของรัฐบาลข้อ 3.6.1 “พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศโดยเร่งรัดพัฒนาโครงข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วถึงและเพียงพอ มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสมและการแข่งขันที่เป็นธรรม” และนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศข้อ 3.6.2 “ส่งเสริมการเข้าถึงบริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะที่มีการใช้งานตามความเหมาะสมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย” โดยการพัฒนาโครงข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง LTE ต้นทุนต่ำที่มีความครอบคลุมได้

2.3.4 เกิดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจากผู้ให้บริการ 2-3 ราย เป็นผู้ให้บริการหลายรายจากการที่ กสท และ ทีโอที ยกระดับการให้บริการโครงข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงไร้สายในรูป Network Provider และขายส่งบริการให้แก่ MVNO เพื่อนำไปให้บริการผู้ใช้บริการต่อไปจะส่งเสริมให้เกิดผู้ให้บริการรายย่อยมากขึ้น เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมให้มีผู้ให้บริการเพิ่มขึ้น เพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชนในการเลือกผู้ให้บริการ และเกิดประโยชน์แก่ประเทศในด้านลดการลงทุนซ้ำซ้อน การสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคมจากการที่ กสท และ ทีโอที เป็นผู้ลงทุนพัฒนาโครงข่าย Network Provider

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 สิงหาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ