การจัดทำความตกลงประเทศเจ้าภาพสำหรับการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ

ข่าวการเมือง Tuesday January 28, 2014 14:07 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การจัดทำความตกลงประเทศเจ้าภาพสำหรับการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ

โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ร่วมกับสำนักงาน

สหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดทำความตกลงให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพสำหรับการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ ในเรื่องเกี่ยวกับการยุติความรุนแรงต่อเด็ก โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (Thailand Institute of Justice : สถาบัน TU) ร่วมกับสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) ระหว่างวันที่ 18-21 กุมภาพันธ์ 2557 โดยการจัดทำความ ตกลงสำหรับจัดการประชุมดังกล่าว จะใช้วิธีการแลกเปลี่ยนหนังสือระหว่างกัน (Exchange of Letters) ระหว่างรัฐบาลไทยกับสหประชาชาติ

สาระสำคัญของการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติในเรื่องเกี่ยวกับการยุติความรุนแรงต่อเด็กมีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การดำเนินงานของสถาบัน TU เนื่องจากผู้หญิงและเด็กถือเป็นกลุ่มเปราะบางในสังคม (vunerable group) ที่มักตกเป็นเหยื่อความรุนแรงและอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ และได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันฯ ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวมาโดยตลอดเนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับข้อกำหนดกรุงเทพฯ ในบริบทของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และเด็กติดผู้ต้องขัง และเกี่ยวข้องกันโดยตรง กับการป้องกันอาชญากรรม และความยุติธรรมทางอาญา ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา สถาบัน TU ได้ประสานกับ UNODC เกี่ยวกับรายละเอียดของการจัดประชุม ซึ่งรวมถึงการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบและการจัดเตรียมการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ยืนยันความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมดังกล่าว

โดยที่ความตกลงดังกล่าวเกี่ยวข้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 190 เนื่องจากก่อให้เกิดพันธกรณีแก่คู่ภาคีภายใต้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศในด้านเอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับการประชุมระหว่างประเทศที่จัดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมีพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษในประเทศไทย พ.ศ. 2505 รับรองอยู่แล้ว แต่มิได้เป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 190 วรรคสอง เนื่องจากไม่มีเนื้อหาสาระที่เป็นบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม การค้า การลงทุน และงบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยคณะรัฐมนตรีสามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบได้โดยกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ต้องเสนอความเห็นเกี่ยวกับประเด็นสารัตถะของความตกลงมาประกอบด้วย

ทั้งนี้ กต. ได้พิจารณาหลังจากได้รับสำเนาหนังสือจาก UNODC ดังกล่าวแล้ว ไม่มีข้อขัดข้องในสารัตถะของการจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนเพื่อตอบรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว โดยมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับถ้อยคำเพื่อให้หนังสือแลกเปลี่ยนข้างต้นมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น ซึ่ง UNODC ได้ปรับเปลี่ยนถ้อยคำตามข้อเสนอแนะดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 มกราคม 2557--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ