ภาวะสังคมไทยไตรมาสที่สี่และภาพรวมทั้งปี 2556

ข่าวการเมือง Tuesday March 25, 2014 13:38 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบภาวะสังคมไทยไตรมาสที่สี่ และภาพรวมทั้งปี 2556 ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สศช. รายงานว่า ได้เผยแพร่รายงานภาวะสังคมไทยของไตรมาสที่สี่และภาพรวมทั้งปี 2556 เมื่อวันจันทร์ที่ 24 กุมพาพันธ์ 2557 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. ภาวะสังคมไตรมาสที่ 4/2556 และแนวโน้มปี 2557

ในภาพรวมภาวะการจ้างงานลดลง อัตราการว่างงานสูงขึ้นเล็กน้อยและประชาชนยังมีรายได้จากเงินเดือนและค่าจ้างเพิ่มขึ้น ส่วนภาวะสังคมด้านสุขภาพพบว่า ผู้ป่วยโรคเฝ้าระวังมีจำนวนลดลง และยังคงต้องเฝ้าระวังโรคปอดอักเสบและไข้หวัดใหญ่ที่แพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง อุบัติเหตุจราจรลดลง ในขณะที่ปัญหาอาชญากรรมโดยรวมดีขึ้น แม้ว่าคดียาเสพติดจะยังคงเพิ่มขึ้น สำหรับความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ ที่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง ได้แก่ ปัญหาเด็กและเยาวชน การเจ็บป่วยโรคเรื้อรัง รายได้ รายจ่ายและหนี้สินครัวเรือนและการค้ามนุษย์

2. ความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ

2.1 พัฒนาการเด็กและวัยรุ่น

เด็กและวัยรุ่นยังมีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขในหลายเรื่อง คือภาวะโภชนาการของเด็ก การเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ และแม่วัยใส โดยมีปัญหาทั้งภาวะโภชนาการเกินและขาดสารอาหารในเด็กยากจนซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาสมองและภูมิคุ้มกัน ด้านการศึกษาพบว่า เด็กไทยยังไม่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานครบถ้วน โดยเฉพาะเด็กมัธยมปลายมีอัตราเข้าเรียนเพียงร้อยละ 73.18 ขณะที่ผลสัมฤทธิ์การศึกษายังค่อนข้างต่ำ โดยผลการประเมินของโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติของประเทศสมาชิก องค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (Programme for International Student Assessment :PISA) ปี 2012 คะแนนวิชาคณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในแต่ละวิชา ในส่วนของแม่วัยใสมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอายุน้อยลง โดยแม่อายุ 15-19 ปี มีอัตราการคลอดต่อประชากรกลุ่มอายุเดียวกันพันคน เพิ่มขึ้นจาก 50.1 ในปี 2551 เป็น 53.8 ในปี 2555 นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะวัยรุ่นหญิง ขณะที่การป้องกันยังมีน้อย จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาเด็กและวัยรุ่นไทยเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์ทั้งในเรื่องสุขภาพและการศึกษา ด้วยการให้สารอาหารที่จำเป็นแก่แม่และเด็ก การส่งเสริมโภชนาการที่เหมาะสม การสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่การศึกษาเพื่อให้เด็กยากจนสามารถคงอยู่ในระบบการศึกษา รวมทั้งการจัดการเรียนที่เหมาะสมเพื่อลดการออกจากการเรียนของแม่วัยใส

2.2 รายได้ รายจ่าย และหนี้สินครัวเรือน

ผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า รายได้ครัวเรือนต่อเดือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ขณะที่รายจ่ายครัวเรือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ครัวเรือน มีหนี้สินเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนครัวเรือนที่เป็นหนี้ลดลงจากร้อยละ 55.8 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 54.4 ในปี 2556 โดยเป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ซื้อหรือเช่าซื้อบ้านและที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 ต่อปี หนี้เพื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ต่อปี (ซึ่งรวมหนี้เพื่อซื้อรถยนต์ตามมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรก) และหนี้เพื่อใช้ในการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ต่อปี สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 แนวโน้มการใช้จ่ายและก่อหนี้ครัวเรือนชะลอตัวลง ดังเห็นจากเครื่องชี้การใช้จ่ายภาคเอกชนลดลงร้อยละ 2.9

2.3 การค้ามนุษย์

ไทยยังคงถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ต้องจับตามองด้านการค้ามนุษย์ (Tier 2 Watch List) เป็นปีที่สี่ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา เนื่องจากไทยยังได้รับการผ่อนผันและให้จัดทำรายงานแสดงแนวทางและมาตรการที่ได้ดำเนินการเพิ่มขึ้นในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ดี ในปี 2556 ไทยได้พยายามเร่งรัดการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ตามข้อเสนอแนะของสหรัฐอเมริกา เพื่อนำไปสู่การประเมินรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี ค.ศ. 2014 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้ดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง การจัดระบบแรงงานต่างด้าว การบูรณาการการช่วยเหลือเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ ภายใต้ชื่อ “OSCC ศูนย์ช่วยเหลือสังคม”การเร่งรัดการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง การติดตามตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ การคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 เพื่อให้การสืบสวนสอบสวนคดีค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 มีนาคม 2557--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ