ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม

ข่าวการเมือง Tuesday October 14, 2014 17:28 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมการอุทธรณ์ฎีกา)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

1.1 กำหนดให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุดและคู่ความอาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้พิจารณาอนุญาตให้ฎีกาภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ โดยให้ยื่นคำร้องไปพร้อมกับฎีกา และให้องค์คณะผู้พิพากษา ซึ่งประกอบด้วย รองประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกอย่างน้อย 3 คน เป็นผู้พิจารณาและวินิจฉัยคำร้องดังกล่าว ทั้งนี้ ศาลฎีกาอาจอนุญาติให้ฎีกาได้เมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะหรือเป็นปัญหาสำคัญอื่นที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย และคดีที่ ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา ให้เป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของ ศาลอุทธรณ์

1.2 กำหนดให้ในคดีที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาที่มีแต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย หากศาลฎีกาเห็นว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ถูกต้องไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ศาลฎีกาจะมีคำวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายนั้นและยกคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์หรือศาลชั้นต้น แล้วมีคำสั่งให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลชั้นต้น แล้วแต่กรณี ทำคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ภายใต้กรอบคำวินิจฉัยของศาลฎีกาก็ได้

2. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับ ..) พ.ศ. ....

แก้ไขในส่วนของการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ โดยมีสาระสำคัญเช่นเดียวกับ ร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 1

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 ตุลาคม 2557--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ