การสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม

ข่าวการเมือง Tuesday October 14, 2014 18:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่ กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ดังนี้

1. ขอความร่วมมือทุกกระทรวง สั่งการให้ส่วนราชการในสังกัดไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัด อำเภอ ส่วนราชการส่วนภูมิภาค รัฐวิสาหกิจในสังกัด ให้การสนับสนุนด้านบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ ข้อมูลงานบริการประชาชนด้านต่าง ๆ หรือด้านงบประมาณ ในการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอตามความเหมาะสมและจำเป็น

2. ขอความร่วมมือทุกกระทรวง สั่งการให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัด สนับสนุนการจัดทำข้อมูล งานบริการประชาชน ข้อมูลข่าวสารสำคัญที่ประชาชนควรทราบ ข้อมูลกฎ ระเบียบ เงื่อนไข ขั้นตอน การพิจารณาอนุมัติ/อนุญาต ในอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ข้อมูลรายชื่อเจ้าหน้าที่ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อขอทราบข้อมูล หรือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง และช่องทางการส่งเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ หรืองานบริการอื่น ๆ

สาระสำคัญของเรื่อง

มท.รายงานว่า

1. การจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม

มท. ได้จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย และจังหวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 มีภารกิจหลัก คือ การรับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมีช่องทางการร้องเรียนทางไปรษณีย์ มาด้วยตนเองและโทรศัพท์สายด่วน 1567 ต่อมาได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 96/2557 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 (เรื่อง การจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม) โดยให้จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมขึ้น ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่อื่นตามที่เห็นสมควร โดยประกาศให้ประชาชนทราบและให้ มท. เป็นผู้กำกับดูแลและอำนวยการให้การบริหารงานของศูนย์ดำรงธรรมและการบริหารงานของจังหวัดดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นช่องทางที่รัฐบาล/คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะได้รับทราบความทุกข์สุขของประชาชน และสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ได้รับฟังข้อเสนอแนะหรือแก้ไขความคับข้องใจของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประชาชนได้รับความพึงพอใจ

2. ผลการดำเนินการที่ผ่านมา

จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมส่วนกลาง ณ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย และศูนย์บริการประชาชน กรมการปกครอง (วังไชยา) และจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดได้ครบ 76 จังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ครบ 878 อำเภอ และได้ขยายผลไปยังศูนย์ดำรงธรรมท้องถิ่นบางแห่งแล้ว ซึ่งมีงานให้บริการประชาชน 7 มิติ ดังนี้

2.1 การรับเรื่องร้องเรียน – ร้องทุกข์

2.2 งานบริการเบ็ดเสร็จ (One stop service)

2.3 งานบริการ – ส่งต่อ (Service link)

2.4 การบริการข้อมูลข่าวสาร/คำปรึกษา

2.5 รับเรื่องราวความต้องการและข้อเสนอแนะของประชาชน

2.6 การปฏิบัติตามนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล/หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

2.7 การจัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว (Mobile service)

3. การขับเคลื่อนศูนย์ดำรงธรรม

3.1 มท. ได้จัดทำแนวทางการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ประกอบด้วยหลักคิดในการจัดตั้ง โครงสร้างศูนย์ดำรงธรรม กรอบภารกิจ สถานที่ตั้งศูนย์ดำรงธรรม แนวทางการดำเนินการของจังหวัด ขั้นตอนการปฏิบัติงาน การเชื่อมต่อข้อมูลงานบริการหน่วยงานต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำศูนย์ดำรงธรรม และงบประมาณดำเนินการ

3.2 แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ดำรงธรรม มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน โดยมอบหมายภารกิจรองปลัดกระทรวงมหาดไทยกำกับดูแลการดำเนินการต่าง ๆ ได้แก่ การให้บริการประชาชนเพื่อให้ได้รับความพึงพอใจ การดำเนินการตามนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล การอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน ภารกิจการอำนวยการและหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์และความพึงพอใจสูงสุด

3.3 ศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทยได้จัดทำระบบฐานข้อมูลการร้องเรียนร้องทุกข์ที่เชื่อมต่อกับทุกจังหวัด จัดทำเว็บไซต์ศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทยเชื่อมต่อกับทุกกระทรวงและจังหวัดเพื่อสนับสนุนข้อมูลงานบริการต่าง ๆ โอนสายโทรศัพท์ สายด่วน 1567 ไปให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด โดยประชาชนโทรฟรีทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมง

3.4 มท.ได้ร่วมประชุมหารือกับผู้แทนทุกกระทรวง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557 โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับศูนย์ดำรงธรรมและขอข้อมูลงานบริการประชาชนการส่งต่อ และการเชื่อมต่อข้อมูลงานบริการของแต่ละหน่วยงานเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลและติดต่อประสานงานในการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 ตุลาคม 2557--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ