ร่างความตกลงอาเซียนว่าด้วยบทบัญญัติเครื่องมือแพทย์ (ASEAN Agreement on Medical Device Directive)

ข่าวการเมือง Tuesday October 14, 2014 18:27 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบและอนุมัติการลงนามความตกลงอาเซียนว่าด้วยบทบัญญัติเครื่องมือแพทย์

2. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามในความตกลงฯ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญในความตกลงฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ให้ผู้ลงนามเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจตามสถานการณ์ ตามความเหมาะสมที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยต่อไป

3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามความตกลงฯ

4. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือแจ้งการมีผลใช้บังคับความตกลงฯ เมื่อประเทศไทยได้ลงนามและดำเนินการตามกระบวนการภายในเสร็จสิ้นแล้ว

สาระสำคัญของร่างความตกลง AMDD มีดังนี้

1. ประเทศสมาชิกต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีเพียงเครื่องมือแพทย์ที่เป็นไปตามบทบัญญัติของความตกลงของอาเซียนว่าด้วยข้อตกลงบทบัญญัติเครื่องมือแพทย์ และภาคผนวก ฉบับนี้เท่านั้นที่อาจนำไปวางตลาดในประเทศสมาชิกได้ ซึ่งบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล หรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ ที่รับผิดชอบในการวางตลาดเครื่องมือแพทย์ในประเทศสมาชิกต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานผู้กำกับดูแลของแต่ละประเทศสมาชิกนั้น หรือในประเทศสมาชิกหนึ่งประเทศหรือมากกว่า ต้องขอรับการอนุญาตก่อนการวางตลาดกับหน่วยงานผู้กำกับดูแลของแต่ละประเทศสมาชิกนั้น

2. ร่างความตกลง AMDD มีสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานและการตรวจสอบรับรองเครื่องมือแพทย์ เช่น คำจำกัดความและขอบเขตของเครื่องมือแพทย์ หลักการที่จำเป็นเพื่อความปลอดภัยและสมรรถนะในการใช้งานของเครื่องมือแพทย์ การจำแนกประเภทเครื่องมือแพทย์ การประเมินความสอดคล้องของเครื่องมือแพทย์ เอกสารวิชาการของเครื่องมือแพทย์ การอ้างอิงมาตรฐาน ฉลาก ระบบเฝ้าระวัง เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์และหารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า ร่าง AMDD กับพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 มีสาระสำคัญไม่ขัดแย้งกัน โดยการดำเนินการรองรับในการนำแนวทางจากร่าง AMDD มาปฏิบัติ ต้องมีการจัดทำหรือปรับกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายลำดับรองต่อไป ซึ่งการลงนามในร่างดังกล่าวเป็นการลงนามที่ยังไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันในทันที โดยหลังจากการลงนามแล้วประเทศสมาชิกจะต้องดำเนินกระบวนการภายในให้เสร็จสิ้นแล้วจะต้องแจ้งการยอมรับหรือให้สัตยาบันอีกขั้นตอนหนึ่ง เพื่อให้มีผลผูกพันทางกฎหมายต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 ตุลาคม 2557--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ