ร่างยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล (พ.ศ. 2558 – 2562)

ข่าวการเมือง Tuesday October 21, 2014 18:02 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล (พ.ศ. 2558 – 2562) ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำ 3 ร่างยุทธศาสตร์ฯ เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำแผนงาน/โครงการรองรับยุทธศาสตร์ฯ

สาระสำคัญของเรื่อง

ร่างยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล (พ.ศ. 2558 – 2562) มี 6 ประเด็นยุทธศาสตร์ ดังนี้

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาศักยภาพความมั่นคงของชาติทางทะเล

1) ประเด็นปัญหา ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน การรุกรานและการแข่งขันในด้านการสะสมอาวุธ

2) วัตถุประสงค์ เพื่อปกป้องและรักษาอำนาจอธิปไตยบูรณภาพแห่งดินแดน สิทธิอธิปไตย และเขตอำนาจของชาติทางทะเลจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ ซึ่งมีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ได้แก่ กระทรวงกลาโหม (กห.) (กองทัพเรือ) และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.)

3) มี 5 แนวทาง ในการดำเนินยุทธศาสตร์

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 การคุ้มครองการใช้ประโยชน์จากทะเล

1) ประเด็นปัญหา ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะข้ามพรมแดนทั้งอาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้าย การค้ามนุษย์ ภัยธรรมชาติ และภัยที่เกิดจากรัฐที่มีแนวคิดในการใช้ความรุนแรงในการบังคับใช้กฎหมาย

2) วัตถุประสงค์ เพื่อคุ้มครองและรักษาชีวิต สิทธิและทรัพย์สินของประชาชนที่ดำเนินกิจกรรมหรือมีความเกี่ยวข้องกับทะเลทั้งในและนอกน่านน้ำ ซึ่งมีหน่วยงานรับผิดชอบหลักได้แก่ กห. (กองทัพเรือ) กต. กระทรวงมหาดไทย (มท.) และศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.)

3) มี 6 แนวทาง ในการดำเนินยุทธศาสตร์

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความสงบเรียบร้อยและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทะเล

1) ประเด็นปัญหา ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ การกระทำที่ผิดกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายและการบริหารจัดการทะเลที่ขาดประสิทธิภาพ การขาดการสนับสนุน และขาดการบูรณาการในการใช้ประโยชน์จากทะเล

2) วัตถุประสงค์ เพื่อจัดการและควบคุมการใช้ทะเลให้มีความสงบเรียบร้อย มีประสิทธิภาพเอื้อต่อการดำเนินกิจกรรมร่วมกันอย่างสมดุลและยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมศักยภาพในการแสวงหาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งมีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ได้แก่ กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มท. และ ศรชล.

3) มี 7 แนวทาง ในการดำเนินยุทธศาสตร์

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างความสมดุลและยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล

1) ประเด็นปัญหา สิ่งแวดล้อมถูกทำลายอย่างหนักรุนแรงและมีผลกระทบในวงกว้าง การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงในอนาคต การแสวงหาผลประโยชน์จากทะเลอย่างขาดความรับผิดชอบ ขาดนโยบาย/ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล และการบังคับใช้กฎหมายและการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ ขาดความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ จนทำให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลายอย่างรวดเร็ว

2) วัตถุประสงค์ เพื่อปกป้อง รักษา และฟื้นฟูทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งมีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ได้แก่ ทส.

3) มี 7 แนวทาง ในการดำเนินยุทธศาสตร์

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์องค์ความรู้และความตระหนักรู้ความสำคัญของทะเล

1) ประเด็นปัญหา ขาดองค์กรและระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทะเลทั้งด้านความมั่นคง และด้านอื่น ๆ ภาคประชาชนขาดความรู้ ความเข้าใจและขาดมิติทางความคิดที่เกี่ยวข้องกับทะเล ภาครัฐขาดบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจและความชำนาญในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทะเล และขาดการส่งเสริมการเข้ามามีบทบาทของภาคประชาชนอย่างเพียงพอ

2) วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เสริมสร้างองค์ความรู้ความตระหนักรู้ความสำคัญของทะเล และปลูกจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากร ตลอดจนส่งเสริมการเข้ามามีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งมีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ได้แก่ มท. สมช. และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน กพ.)

3) มี 5 แนวทาง ในการดำเนินยุทธศาสตร์

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการผลประโยชน์ของชาติทางทะเลขององค์กรของรัฐ

1) ประเด็นปัญหา องค์กรของรัฐขาดประสิทธิภาพในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลกฎหมายไม่ทันสมัยและไม่มีมาตรการที่เข้ากับสถานการณ์และผลกระทบจากการเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982

2) วัตถุประสงค์ เพื่อจัดทำและพัฒนากฎหมายและการบริหารจัดการทางทะเลขององค์กรภาครัฐ ซึ่งมีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ได้แก่ กต. มท. และ สมช.

3) มี 7 แนวทาง ในการดำเนินยุทธศาสตร์

สำหรับ ปัจจัยแห่งความสำเร็จ เพื่อให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ สามารถประเมินผลการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ฯ ได้อย่างชัดเจน จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในอันที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการปฏิบัติยุทธศาสตร์ ดังนี้

1. มีระบบการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ

2. มีกลไกในการนำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติและระบบการประเมินผลยุทธศาสตร์

3. มีการสร้างความสมดุลและความสอดคล้องทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม

4. มีการศึกษาวิจัยทางวิชาการ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ในมิติทางด้านความมั่นคงทางทะเล

5. มีภาคีเครือข่ายสนับสนุนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์

6. มีการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนตื่นตัวและตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางทะเล

7. มีการปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านความมั่นคงทางทะเล

8. มีการเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์/นโยบายและแผนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนการบริหารราชการแผ่นดินอย่างชัดเจน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ตุลาคม 2557--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ