ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

ข่าวการเมือง Tuesday December 2, 2014 17:18 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

ทส. เสนอว่า ในการประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2557 ได้มีมติเห็นชอบให้ช้างแอฟริกา (Loxodonta africana) และเต่านามลายู (Malayemys macrocephala) เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ช้างแอฟริกา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Loxodona africana ในปัจจุบันมีการลักลอบนำเข้างาช้างแอฟริกาเข้ามาในประเทศไทย เพื่อแปรรูปเป็นสินค้าและทำการค้าอยู่ภายในประเทศเป็นจำนวนมาก ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ช้างแอฟริกา (Loxodonta africana) เป็นเพียงสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 23 ในกลุ่มที่ 1 ลำดับที่ 325 และ 326 บัญชีท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่าที่ห้ามนำเข้าและส่งออก พ.ศ. 2556 ซึ่งมีบทบัญญัติควบคุมเฉพาะการนำเข้าและส่งออกซึ่งตัวและซากของช้าง (รวมทั้งงาช้าง) เท่านั้น ช้างแอฟริกายังมิได้กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจึงไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการครอบครองและการค้าทำให้การตรวจปราบปรามและดำเนินคดีกับผู้ลักลอบค้างาช้างหรือผลิตภัณฑ์จากงาช้างแอฟริกาที่ผิดกฎหมายภายในประเทศไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. เต่านามลายู (Malayan Snail – eating Turtle) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Malayemys macrocephala ได้จำแนกออกจากเต่านาอินโดจีน (Indochinese Snail-eating Turtle) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Malayemys Subtrijuga ที่ได้กำหนดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลื้อยคลานลำดับที่ 77 ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 แต่เต่านามลายูเป็นเพียงสัตว์ป่าในกลุ่มที่ 1 ลำดับที่ 740 ท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่าที่ห้ามนำเข้าและส่งออก พ.ศ. 2556 ซึ่งกำหนดให้เป็นสัตว์ป่า Appendix-II ท้ายบัญชีอนุสัญญา CITES อีกทั้ง เต่านามลายูมีสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ตาม Thailand Red Data (2005) และ IUCN Red List (2007) และมีการลักลอบส่งออกกระดองเต่าเป็นจำนวนมาก หากไม่ได้รับการควบคุมและคุ้มครองอาจจะมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ กรมประมง จึงเสนอให้กำหนดเต่านามลายูเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

กำหนดให้ช้างแอฟริกาและเต่านามลายูเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 ธันวาคม 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ