ร่างพระราชบัญญัติมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ. .... ของกระทรวงยุติธรรม และร่างพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นการสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจ พ.ศ. .... ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ข่าวการเมือง Tuesday December 2, 2014 17:21 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ. .... ของกระทรวงยุติธรรม และร่างพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นการสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจ พ.ศ. .... ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติดังนี้

1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ

2. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นการสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รวมร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับเป็นฉบับเดียวกัน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ จำนวน 2 ฉบับ

1. ร่างพระราชบัญญัติมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ. .... ที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว ของ ยธ. มีสาระสำคัญ ดังนี้

1.1 กำหนดบทนิยามคำว่า “การไกล่เกลี่ยคดีอาญา” “คู่กรณี” “ผู้ไกล่เกลี่ย” และ “การชะลอการฟ้อง”

1.2 กำหนดให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอัยการสูงสุด รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน

1.3 กำหนดมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา ได้แก่ การไกล่เกลี่ยคดีอาญาและการชะลอการฟ้อง โดยไม่ให้ใช้บังคับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว แต่คดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารและมีเหตุที่อาจใช้มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญาได้ ให้ใช้บังคับได้โดยอนุโลม ส่วนในคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง เมื่อมีคำสั่งให้ใช้มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา มิให้นำบทบัญญัติในเรื่องการฟ้องและการผัดฟ้องมาใช้บังคับ และเมื่อได้มีคำสั่งให้ใช้มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญาแล้ว ให้ถือเป็นเหตุอายุความสะดุดหยุดอยู่ ตลอดจนห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐาน คำรับสารภาพ หรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการใช้มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี

1.4 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการไกล่เกลี่ย เช่น กำหนดคดีความผิดที่สามารถไกล่เกลี่ยได้ กำหนดพฤติการณ์ของการกระทำที่ได้รับการไกล่เกลี่ย กำหนดการไกล่เกลี่ยคดีกรณีที่มีผู้เสียหายหลายคน รวมทั้งกำหนดอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย

1.5 กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ย และกำหนดให้การยื่นคำขอ การรับขึ้นทะเบียน และการตรวจคุณสมบัติ การถอนชื่อ ให้กำหนดในกฎกระทรวง

1.6 กำหนดกระบวนการไกล่เกลี่ยคดีอาญา เช่น กำหนดระยะเวลานัดไกล่เกลี่ย ระยะเวลาไกล่เกลี่ยคดีอาญาให้แล้วเสร็จ การจัดหาล่าม กำหนดให้ผู้ไกล่เกลี่ยยุติการไกล่เกลี่ยเมื่อมีเหตุตามที่กำหนด

1.7. กำหนดเกี่ยวกับผลของการไกล่เกลี่ยคดีอาญา เช่น ผู้เสียหายจะฟ้องคดีมิได้จนกว่าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะมีคำสั่งให้ดำเนินคดีต่อไป การไกล่เกลี่ยไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนที่จะทำการสอบสวนต่อไป

1.8 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการชะลอการฟ้อง เช่น กำหนดมูลเหตุที่พนักงานอัยการอาจพิจารณามีคำสั่งให้ชะลอการฟ้องได้ และในการพิจารณามีคำสั่งให้ชะลอการฟ้อง พนักงานอัยการอาจดำเนินการตามที่กำหนดได้

1.9 กำหนดเกี่ยวกับผลของคำสั่งชะลอการฟ้อง เช่น ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาในกรณีที่ถูกคุมขังอยู่ ผู้เสียหายจะฟ้องคดีมิได้จนกว่าพนักงานอัยการจะมีคำสั่งให้ดำเนินคดีต่อไป กำหนดมูลเหตุที่พนักงานอัยการจะพิจารณาสั่งให้ดำเนินคดีอาญาต่อไป

2. ร่างพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นการสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจ พ.ศ. .... ที่ ตช. เสนอ มีสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 กำหนดให้มีการไกล่เกลี่ยคดีอาญาโดยความผิดที่จะนำมาไกล่เกลี่ยต้องเป็นความผิดอันยอมความได้ คดีความผิดลหุโทษ และความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินห้าปีตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ

2.2 กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ย เช่น มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปี ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ไกล่เกลี่ยหรือหลักสูตรอื่นที่เทียบเท่าที่ ก.ต.ช. กำหนดหรือรับรอง

2.3 กำหนดกระบวนการไกล่เกลี่ยคดีอาญาจะเริ่มมีการไกล่เกลี่ยคดีอาญาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้คู่กรณีทราบโดยคู่กรณีต้องร่วมไกล่เกลี่ยด้วยตนเอง หากมีความจำเป็นต้องจัดหาล่ามให้ ให้พนักงานสอบสวนจัดหาล่ามให้ ต้องทำการไกล่เกลี่ยให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน

2.4 กำหนดให้ผู้ไกล่เกลี่ยบันทึกข้อตกลงหรือจัดให้มีการบันทึกข้อตกลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

2.5 กำหนดให้มีการขอถอนตัวเพื่อยุติการไกล่เกลี่ยคดีอาญาในเวลาใดก็ได้

2.6 กำหนดให้เมื่อมีการไกล่เกลี่ยคดีอาญา ผู้เสียหายจะฟ้องคดีไม่ได้จนกว่าพนักงานสอบสวนจะมีคำสั่งให้ดำเนินคดีต่อไป ถ้าผู้เสียหายฟ้องคดีอยู่ก่อนแล้วให้ศาลรอการพิจารณาคดีนั้นไว้ หากพนักงานสอบสวนพบว่าผู้ต้องหาจงใจไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ให้พนักงานสอบสวนมีคำสั่งให้ดำเนินคดีต่อไป และในการนี้ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีด้วยตนเอง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 ธันวาคม 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ