ภาวะสังคมไทยไตรมาสที่สามของปี 2557

ข่าวการเมือง Tuesday December 2, 2014 17:48 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ภาวะสังคมไทยไตรมาสที่สามของปี 2557

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่สามของปี 2557

สาระสำคัญของเรื่อง

สศช. รายงานว่า ได้จัดทำเอกสารเผยแพร่รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่สามของปี 2557 เมื่อวันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ดังนี้

1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญไตรมาสที่สามของปี 2557

1.1 การจ้างงานลดลง อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น แต่รายได้ยังเพิ่มขึ้น ในไตรมาสที่สามของปี 2557 การมีงานทำลดลงร้อยละ 1.8 เป็นการลดลงของภาคเกษตรร้อยละ 17.5 เนื่องจากหลายพื้นที่ประสบภาวะขาดฝน และเกิดภาวะน้ำท่วมในบางพื้นที่ รวมถึงความไม่มั่นใจต่อราคาพืชเกษตร ส่วนการมีงานทำภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 ขณะที่อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.84 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 0.77 ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว แรงงานมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย 44.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 0.9ค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่หักด้วยเงินเฟ้อแล้วเพิ่มขึ้นร้อย 9.2

1.2 การก่อหนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอลง แต่ต้องเฝ้าระวังการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ในไตรมาสที่สามของปี 2557ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ยังชะลอตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 โดยมีมูลค่ายอดคงค้างสินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 10.7 และ 8.8 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง ที่ผ่านมา โดยสินเชื่อเพื่อซื้อที่พักอาศัย และการบริโภคอื่นๆ ยังเพิ่มขึ้น แต่สินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์ลดลงต่อเนื่อง การผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อภายใต้การกำกับและบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังไม่ส่งสัญญาณความเสี่ยงต่อภาพรวม โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีมูลค่า 90,157 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.8 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.7 ต่อสินเชื่อรวม สินเชื่อภายใต้การกำกับผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.9 และยอดคงค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.1

1.3 ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง แต่ต้องเฝ้าระวังโรคปอดอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ และมือ เท้า ปากในไตรมาสที่สามของปี 2557จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 19.9 ขณะที่โรคที่แพร่ระบาดในช่วงปลายฝนต้นหนาวได้แก่ โรคปอดอักเสบ และโรคไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันน้อย เกิดการติดเชื้อได้ง่าย และยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก และโรคตาแดง ซึ่งพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาที่ยังแพร่ระบาดในวงกว้างในประเทศกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน

1.4 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่เพิ่มขึ้น และต้องเฝ้าระวังบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นเมือง ในไตรมาสที่สามของปี 2557ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่า 27,907 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 0.6 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่มีมูลค่า 5,308 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 1.7และต้องเฝ้าระวังบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นเมือง โดยกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ วัยรุ่นหรือวัยเริ่มทำงานอายุ 19-24 ปี มีแนวโน้มใช้มากกว่ากลุ่มอื่น และร้อยละ 94 ของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผู้ที่เคยสูบบุหรี่ทั่วไปมาก่อน โดยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมใช้บุหรี่ไฟฟ้าควบคู่ไปกับบุหรี่ทั่วไปมากกว่าใช้เพื่อลด ละ เลิกบุหรี่อย่างเด็ดขาด

1.5 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินโดยรวมดีขึ้นแต่ยังคงมีการใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้นอกระบบในไตรมาสที่สามของปี 2557 คดีอาญาโดยรวมลดลงร้อยละ 17.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2556 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 11.2 คดีชีวิตร่างกายและเพศ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 0.3 ขณะที่คดียาเสพติดมีสัดส่วนมากที่สุดร้อยละ 84.1 ของคดีอาญารวม ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 19.1ขณะที่ขบวนการ ขณะที่ขบวนการทวงหนี้นอกระบบยังมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่สูงและมีการใช้กำลังทำร้ายร่างกายลูกหนี้ การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่นำไปสู่การลดความรุนแรงที่ถูกทวงหนี้ เช่น การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบโดยจัดทนายความเข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้เงินกู้นอกระบบที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม มีมาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชน จัดให้มีหน่วยงานเฉพาะทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินภาคประชาชนทั้งระบบ รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนให้สามารถบริหารจัดการหนี้และหลุดพ้นจากวงจรหนี้นอกระบบอย่างถาวรได้ด้วยตนเอง

1.6 การเร่งรณรงค์ “เมา-ง่วง ไม่ขับ-ใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด” อย่างต่อเนื่องเพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจรทางบก การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกในไตรมาสที่สามของปี 2557 มีผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 21.2เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2556 เกิดอุบัติเหตุ 13,274 ราย ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 5.9 สาเหตุเกิดจากขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลพบว่า “เมาแล้วขับ” ยังเป็นสาเหตุอันดับต้น เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุใน เทศากาลปีใหม่ 2558 ควรรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้ความรู้ในการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากอุบัติเหตุ จัดตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ จัดตั้งจุดบริการประชาชนเพื่อพักผ่อน จัดหน่วยในบริการตรวจรถบนต์ก่อนการเดิทาง จัดตั้งศูนย์รณรงค์การลดอุบัติเหตุและบริหารการจัดการจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 รวมทั้งเร่งรัดให้มีมาตรการลดพฤติกรรมเสี่ยงจากการใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงกับผู้ที่โทรศัพท์หรือดื่มสุราขณะขับรถและดำเนินคดีทันที

1.7 ร้านค้าออนไลน์: สู่การเติบโตอย่างปลอดภัย พฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นโดยในปี 2555 มีมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ธุรกิจขายแก่ผู้บริโภคเป็น 121,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 โดยมีการซื้อออนไลน์ผ่านคอมพิวเตอร์ร้อยละ46.9และผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ร้อยละ 29.7 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าแฟชั่นเครื่องสำอางยาอาหารเสริมฯลฯ ปัจจัยที่สำคัญคือโปรโมชั่นที่ถูกใจมีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจและมั่นใจในความปลอดภัยของเว็บไซต์ ส่วนปัญหาที่พบคือ คุณภาพสินค้าไม่ตรงตามที่ระบุไว้ส่งสินค้าล่าช้าความไม่รวดเร็วในการดาวน์โหลดและติดต่อกับร้านค้ายากการแก้ปัญหาส่วนใหญ่นิยมร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของสินค้า/บริการนั้นๆแต่ร้อยละ 10 เลือกที่จะไม่ร้องเรียนซึ่งต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นต่อร้านค้า ให้ความรู้และพัฒนาระบบร้องเรียน รวมทั้งกำกับดูแลให้สินค้าที่ขายออนไลน์มีคุณภาพและปลอดภัยโดยเฉพาะสินค้าสุขภาพ

1.8 การกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์จากความก้าวหน้าเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ในปี 2556 ซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีปริมาณสูงถึง 368,314 ตัน คิดเป็นร้อยละ 65.4 จากของเสียอันตรายจากชุมชนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีปริมาณ 359,070 ตัน และจากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมยังพบว่าในปี 2556 มีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 20 ล้านเครื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปีขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดสถานที่กำจัดที่ได้มาตรฐานและมีการดำเนินงานอย่างถูกต้อง โดยการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ พบว่า กลุ่มครัวเรือนกว่าร้อยละ 25 จะเก็บไว้เอง และปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือร้อยละ16จะทิ้งซากผลิตภัณฑ์ ปะปนกับขยะทั่วไป ทำให้ซากผลิตภัณฑ์ได้รับการจัดการอย่างไม่เหมาะสมหรือถูกวิธี และไม่สามารถนำเอาวัสดุมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและอย่างปลอดภัย

2. บทความพิเศษเรื่อง “โอกาสการพัฒนาศักยภาพเด็กวัยเรียน” เด็กวันเรียนไทยยังมีปัญหาการขาดแคลนโอกาสพัฒนาศักยภาพและออกจากระบบการศึกษา โดยเด็กจำนวน 6-8 แสนคนที่ไม่มีโอกาสเข้าเรียนและได้เรียนแต่ออกจากระบบการศึกษาก่อนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานเหตุผลที่ไม่ได้เรียนได้แก่ในกลุ่มวัย 6-14 ปี ร้อยละ 33 มาจากปัญหาการเจ็บป่วยและพิการ ร้อยละ 24 ไม่มีทุนทรัพย์ และร้อยละ 15 ไม่สนใจที่จะเรียน ในกลุ่มวัย 15-17 ปี ครึ่งหนึ่งให้เหตุผลว่าจบการศึกษาแล้ว รองลงมาคือไม่มีทุนทรัพย์ร้อยละ 23 ไม่สนใจร้อยละ 18 เด็กที่ไม่เข้าเรียนส่วนใหญ่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อยทั้งนี้ เด็กที่ไม่ได้เรียนส่วนใหญ่เข้าสู่ตลาดแรงงานประมาณ 5.5 แสนคนถูกดำเนินคดีในสถานพินิจและเข้าบำบัดรักษายาเสพติดประมาณ 50,000-60,000 คนป่วยและพิการ 24,000 คนและเด็กเร่ร่อนประมาณ 30,000 คน

ขณะที่เด็กในระบบโรงเรียนยังมีปัญหาด้านคุณภาพ ขาดทักษะทำงานและการดำเนินชีวิต ทั้งนี้ พบเด็กกว่า 1 แสนคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ผลสัมฤทธิ์การศึกษาต่ำ ขาดทักษะที่ใช้ในการทำงานและต่อยอดการเรียนรู้ได้แก่ ภาษาอังกฤษ การใช้งานเทคโนโลยีการคิดคำนวณความคิดสร้างสรรค์ ภาวะผู้นำ และการสื่อสารทำให้ผลิตภาพแรงงานเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 2.4 ต่อปี ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค นอกจากนี้ต้นทุนชีวิตของเด็กขาดหายไปในด้านจิตอาสา กิจกรรมทางศาสนาและชุมชนเห็นคุณค่า ขณะที่สำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาพบว่าเด็กนักเรียนมีคุณธรรมด้านความซื่อสัตย์น้อยลง

3. ประเด็นสังคมที่ต้องเฝ้าระวังในระยะต่อไป มีดังนี้

3.1 การผลิตกำลังคนให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน โดยการเร่งผลักดันการเพิ่มสัดส่วนการศึกษาสายอาชีวะและสายสามัญ 45:55 ให้บังเกิดผลในปี 2558 การพัฒนาทักษะแรงงานที่ตรงตามความต้องการของตลาด รวมถึงการวางแผนการใช้แรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ และการเพิ่มผลิตภาพแรงงานโดยการนำเทคโนโลยีมาร่วมในการผลิตมากขึ้น

3.2 การแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยการส่งเสริมการสร้างวินัยทางการเงินแก่ประชาชน การทบทวนกฎระเบียบในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต เป็นหนทางที่ช่วยลดภาระหนี้สินส่วนบุคคลในส่วนที่ไม่จำเป็น และสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการทางการเงินสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินที่มีความเป็นธรรม และจะไม่เป็นภาระที่ซ้ำเติมแก่ลูกหนี้ รวมถึงระบบการทวงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดการคุกคามหรือมีความรุนแรง

3.3 การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในเทศกาลปีใหม่ 2558 ที่จะมาถึง โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ร่วมกับการสร้างความตระหนักให้กับสังคม และเร่งรณรงค์ “เมา-ง่วง ไม่ขับ-ใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด” อย่างต่อเนื่องตลอดปี พร้อมทั้ง “บูรณาการ” การทำงานของหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นๆ ใช้กลยุทธ์สื่อรูปแบบใหม่มาเสริม

3.4 การก้าวสู่ร้านค้าออนไลน์ เตรียมการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดยการเร่งส่งเสริมให้ธุรกิจจดทะเบียนเพื่อขอออกเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนและเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ ควบคู่กับการพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในเรื่องการรับเรื่องร้องเรียน ไกล่เกลี่ยและจัดการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคทั้งในเรื่องสิทธิผู้บริโภค ข้อพึงระวังในการซื้อสินค้า

3.5 การผลักดันการป้องกันขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และต่อสุขภาพ โดยการปลูกฝังเด็กตั้งแต่เล็กให้ดำเนินชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการควบคุมขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยหลักการ 3R (Reduce Reuse Recycle) อาทิ การจัดระบบเกี่ยวกับสถานที่ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ การส่งเสริมให้เกิดธุรกิจรีไซเคิลอย่างครบวงจรขึ้นในประเทศ การสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการออกแบบและปรับปรุงการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำมาตรการภาษีมาใช้เพื่อสร้างความตระหนักในความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมแก่ผู้ผลิต

3.6 แนวทางการพัฒนาศักยภาพเด็กวัยเรียน โดยสนับสนุนให้เด็กคงอยู่ในระบบโรงเรียนทั้งการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้แก่เด็กยากจน สร้างแรงจูงใจให้กับสถานศึกษาเพื่อเอื้อต่อการเข้าเรียนของเด็กด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆการเพิ่มช่องทางและทางเลือกการศึกษาในกลุ่มเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาโดยสนับสนุนการกลับเข้าสู่ระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบโรงเรียนและการพัฒนาอาชีพเชิงรุกส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นสื่อกลางการเรียนการสอน พัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยยกระดับคุณภาพครู พัฒนาหลักสูตรให้มีความหลากหลายและเป็นทางเลือกใหม่ส่งเสริมทักษะการอ่านเพื่อเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและสร้างความเป็นพลเมืองที่ดี

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 ธันวาคม 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ