การเจรจาขยายขอบเขตความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITA Expansion)

ข่าวการเมือง Tuesday December 2, 2014 17:51 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การเจรจาขยายขอบเขตความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITA Expansion)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ในการให้ไทยเข้าร่วมการเจรจาขยายขอบเขตความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ [Information Technology Agreement (ITA) Expansion] ต่อไป เพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยใช้ข้อเสนอล่าสุดของฝ่ายไทยซึ่งเป็นผลจากการเจรจาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 เป็นพื้นฐานในการเจรจาต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

พณ. รายงานว่า

1. ความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITA) เกิดขึ้นในการประชุมระดับรัฐมนตรี WTO เมื่อเดือนธันวาคม 2539 โดยประเทศภาคีเริ่มแรกมี 29 ประเทศ ส่วนไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง ITA ในปี 2540 ปัจจุบันความตกลง ITA มีสมาชิก 52 ประเทศ (นับสหภาพยุโรปเป็น 1) ครอบคลุมการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ประมาณร้อยละ 96 ของโลก สมาชิกมีพันธกรณีที่จะลดภาษีสินค้า IT เป็นศูนย์ และยกเลิกค่าธรรมเนียมพิเศษต่าง ๆ ให้กับสมาชิก WTO ทุกประเทศ ตามหลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favoured Nation Treatment : MFN) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่รวมทั้งไทยได้ลดภาษีเป็นศูนย์แล้ว ทั้งนี้ สินค้าในความตกลง ITA ประกอบด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์กึ่งตัวนำ อุปกรณ์การผลิตอุปกรณ์กึ่งตัวนำ อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม เครื่องมือและอุปกรณ์อื่น ๆ สื่อบันทึกข้อมูลและซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์ส่วนประกอบ

2. ITA Expansion ช่วยส่งเสริมบทบาทของไทยในห่วงโซ่อุปทานสินค้า IT ของโลก เนื่องจากไทยเป็นกลจักรสำคัญในเครือข่ายการผลิตสินค้า IT ของโลกไทยจึงควรเข้าร่วม ITA Expansion ในเวทีการค้าโลก เพื่อเป็นการแสดงบทบาทอย่างสง่าผ่าเผยและสร้างความน่าเชื่อถือกับนานาประเทศ ทั้งในด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและนำรายได้เข้าสู่ประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานฝีมือและการพัฒนานวัตกรรมด้าน IT เพื่อรองรับการเป็นฐานผลิตและส่งออกสินค้า และบริการที่เกี่ยวเนื่องกับ IT นอกจากนี้จากการศึกษาของ Stephen J. Ezell (2012) พบว่า เมื่อประเทศใดเก็บภาษีนำเข้าชิ้นส่วนและสินค้า IT ในอัตราสูง หรือไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง ITA เช่น อาร์เจนตินาและบราซิล จะส่งผลให้บริษัทผู้ผลติสินค้า IT ชั้นนำตัดประเทศดังกล่าวออกจากห่วงโซ่อุปทาน โดยหันไปผลิตในประเทศอื่นที่เป็นสมาชิกความตกลง ITA ดังนั้น หากไทยไม่เข้าร่วม ITA Expansion อาจมีโอกาสที่ไทยจะถูกตัดออกจากห่วงโซ่อุปทานของสินค้า IT ของโลก ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 ธันวาคม 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ