การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของอาสาสมัครทหารพราน

ข่าวการเมือง Tuesday January 20, 2015 17:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบการปรับเพิ่มอัตราเงินค่าเบี้ยเลี้ยงสนามของอาสาสมัครทหารพรานจากจำนวน 120 บาทต่อคนต่อวัน เป็นจำนวน 200 บาทต่อคนต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2558

2. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดระยะเวลาการทำหน้าที่เงินเดือนและค่าตอบแทนอย่างอื่น สิทธิประโยชน์ ระเบียบและวินัยของบุคคลเข้าทำหน้าที่ทหารเป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

3. ให้กระทรวงกลาโหมปรับปรุงวิธีการคำนวณเงินช่วยเหลือโดยให้นำเวลาทำงานทวีคูณมาเป็นองค์ประกอบในการคำนวณ โดยให้แก้ไขอนุบัญญัติที่รองรับต่อร่างกฎกระทรวงตามข้อ 2 เพื่อขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ กรอบวงเงินงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเงินช่วยเหลือดังกล่าวให้ทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กห. เสนอว่า

1. อาสาสมัครทหารพราน จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2521 มีบทบาทและหน้าที่ทดแทนกำลังรบหลักในการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยของประเทศ ปัจจุบันได้รับการบรรจุเพื่อปฏิบัติงานตามแผนงานรักษาความมั่นคงภายใน โดยให้มีหน้าที่ในการปฏิบัติภารกิจป้องกันและปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การป้องกันและปราบปรามการค้าอาวุธสงครามและสิ่งผิดกฎหมายตามแนวชายแดน การสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การป้องกันและปราบปรามผู้ลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้ การเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งให้กับหมู่บ้านตามแนวชายแดน การสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด อาสาสมัครทหารพรานจึงเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญต่อกองทัพที่ต้องรักษาไว้ เนื่องจากเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการทำงานที่แตกต่างจากบุคลากรประเภทอื่น ที่สามารถบรรจุและปฏิบัติงานได้ทันทีจึงจำเป็นต้องต่อสัญญาจ้างต่อเนื่องไปจนครบระยะเวลาที่กำหนดที่อายุ 60 ปี หรือ 45 ปี ปัจจุบันได้มีการบรรจุอาสาสมัครทหารพราน จำนวน 23,227 นาย แบ่งเป็น กองทัพบก จำนวน 21,118 นาย และกองทัพเรือ จำนวน 2,109 นาย

2. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 บัญญัติให้อาสาสมัครทหารพรานเป็นบุคคลเข้าทำหน้าที่ทหารเป็นการชั่วคราว และได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดระยะเวลาการทำหน้าที่ เงินเดือนและค่าตอบแทนอย่างอื่นสิทธิประโยชน์ ระเบียบและวินัยของบุคคลเข้าทำหน้าที่ทหารเป็นการชั่วคราว พ.ศ. 2553 โดยกำหนดเงินเดือน ค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์ที่เป็นตัวเงิน ทั้งนี้ กห. ได้ออกระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยหลักเกณฑ์การได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทนอย่างอื่นและสิทธิประโยชน์ของอาสาสมัครทหารพราน พ.ศ. 2554 เพื่อรองรับต่อกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว

3. สำหรับเงินค่าเบี้ยเลี้ยงสนามได้กำหนดไว้ในคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 411/2554 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2554 ในอัตรา 120 บาทต่อคนต่อวัน แต่ปัจจุบันค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับในการปฏิบัติภารกิจของอาสาสมัครทหารพรานที่ต้องประกอบกำลังเป็นชุดปฏิบัติการขนาดเล็ก มีการเคลื่อนย้ายกำลังโดยตลอด การประกอบเลี้ยงของชุดปฏิบัติการดังกล่าวจึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และภารกิจของอาสาสมัครทหารพรานที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง หากเปรียบเทียบกับการได้รับเงินตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการของข้าราชการหรือลูกจ้างที่ทำงานในสำนักงาน จะเห็นได้ว่าข้าราชการหรือลูกจ้างที่ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการต่อเนื่อง (วันทำการไม่เกิน 4 ชั่วโมง วันหยุดราชการไม่เกิน 7 ชั่วโมง) จะได้รับเงินตอบแทนเฉลี่ยเดือนละ 7,760 บาท หรือวันละ 258 บาท ดังนั้น จึงสมควรปรับเงินค่าเบี้ยเลี้ยงสนามจากวันละ 120 บาทต่อคนเป็นวันละ 200 บาทต่อคน

4. การกำหนดเงินช่วยเหลือรายเดือนเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกเหนือจากเงินช่วยเหลือ

4.1 ปัจจุบันอาสาสมัครทหารพรานที่ปฏิบัติงานจนครบ 5 ปีแล้วลาออก หรือ ผู้ที่ปฏิบัติงานมานานจนอายุครบตามที่ส่วนราชการกำหนด (60 ปี หรือ 45 ปี) จะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นเงินก้อนจ่ายครั้งเดียว โดยคำนวณจาก เงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณเวลาทำงาน (ปี) ไม่รวมเวลาทำงานทวีคูณ

4.2 อาสาสมัครทหารพราน ซึ่งปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างคราวละ 4 ปี แต่ในการทำงานนั้นจะต้องปฏิบัติงานในพื้นที่ทุรกันดารเสี่ยงอันตราย ที่ต้องอาศัยการสั่งสมประสบการณ์โดยอาสาสมัครทหารพรานส่วนใหญ่จะทำงานต่อเนื่องจนครบอายุงานเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ ดังนั้น ในการกำหนดสิทธิประโยชน์จึงสามารถเทียบเคียงกับลูกจ้างประจำ กล่าวคือลูกจ้างประจำเมื่อครบเกษียณอายุ 60 ปี สามารถเลือกรับบำเหน็จปกติ ซึ่งคำนวณจาก ค่าจ้างเดือนสุดท้าย คูณเวลาทำงาน (เดือน) รวมเวลาทำงานทวีคูณ หารสิบสองหรืออาจเลือกรับบำเหน็จรายเดือน ซึ่งคำนวณจาก ค่าจ้างเดือนสุดท้าย คูณเวลาทำงาน (เดือน) รวมเวลาทำงานทวีคูณหารสิบสอง หารห้าสิบ

4.3 กรณีของการนำเวลาทำงานทวีคูณมาคิดคำนวณเงินช่วยเหลือรายเดือนนั้น มีเหตุผลประกอบการพิจารณาดังนี้

4.3.1 พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ซึ่งกระทำหน้าที่ตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนดในระหว่างเวลาที่มีการรบหรือสงคราม หรือมีการปราบปรามการจลาจล หรือในระหว่างเวลาที่มีพระบรมราชโองการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือในระหว่างเวลาที่สั่งให้นักดำเรือดำน้ำ ให้นับเวลาราชการที่ปฏิบัติการตามสั่งเป็นทวีคูณแม้ว่าในระยะเวลาดังกล่าวนั้นจะไม่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนก็ตาม

4.3.2 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง พ.ศ. 2519 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 17 กำหนดให้ลูกจ้างประจำผู้ใดถูกสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนดในระหว่างที่มีการรบ การสงคราม การปราบปรามการจลาจล หรือในระหว่างเวลาที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ให้นับเวลาทำงานที่ปฏิบัติการตามสั่งนั้นเป็นทวีคูณได้

ลูกจ้างประจำผู้ใดประจำปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเขตที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกให้นับเวลาทำงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างนั้นเป็นทวีคูณ

เมื่อพิจารณาลักษณะการปฏิบัติงานของอาสาสมัครทหารพรานจึงสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายและหลักเกณฑ์ตามข้อ 4.1 และข้อ 4.2 ดังกล่าว เนื่องจากเป็นผู้ที่ กห. สั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามแผนป้องกันประเทศที่มีความยากลำบากและเสี่ยงอันตรายอย่างแท้จริง อันก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตหรือพิการ ดังนั้น จึงสมควรกำหนดให้เวลาทำงานดังกล่าวเป็นเวลาทวีคูณเพื่อใช้ในการคำนวณเงินช่วยเหลือรายเดือนและคำนวณเงินช่วยเหลือด้วย

4.4 กห. ได้พิจารณาแล้วสมควรกำหนดให้อาสาสมัครทหารพรานที่ปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องมานานจนครบระยะเวลาที่กำหนด สามารถเลือกรับเงินช่วยเหลือ ดังนี้

4.4.1 เงินช่วยเหลือซึ่งคำนวณจากเงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณเวลาทำงาน (ปี) รวมเวลาทำงานทวีคูณ หรือ

4.4.2 เงินช่วยเหลือรายเดือนซึ่งคำนวณจากเงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณเวลาทำงาน (ปี) รวมเวลาทำงานทวีคูณ (รวมกันแล้วต้องไม่เกินห้าสิบปี) หารด้วยห้าสิบ ทั้งนี้ ให้ กห. แก้ไขกฎกระทรวง กำหนดระยะเวลาการทำหน้าที่ เงินเดือนและค่าตอบแทนอย่างอื่นสิทธิประโยชน์ ระเบียบและวินัยของบุคคลเข้าทำหน้าที่ทหารเป็นการชั่วคราว พ.ศ. 2553 และปรับปรุงวิธีการคำนวณเงินช่วยเหลือ พร้อมทั้งกำหนดรายละเอียดการคำนวณเงินช่วยเหลือรายเดือนในระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยหลักเกณฑ์การได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทนอย่างอื่นและสิทธิประโยชน์ของอาสาสมัครทหารพราน พ.ศ. 2554 รองรับต่อการปฏิบัติดังกล่าว โดยให้ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เพื่อให้ครอบคลุมต่ออาสาสมัครทหารพรานที่ครบกำหนดเวลาทำงานในปีงบประมาณ 2558

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 มกราคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ