ภาวะสังคมไทยไตรมาสที่สี่ และภาพรวมของปี 2557

ข่าวการเมือง Tuesday March 10, 2015 17:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบภาวะสังคมไทยไตรมาสที่สี่และภาพรวมของปี 2557 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ

รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่สี่และภาพรวมของปี 2557 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญไตรมาสที่สี่ และภาพรวมของปี 2557

1.1 การจ้างลดลง อัตราการว่างงานต่ำ ขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นช้า

1.2 การก่อหนี้สินครัวเรือนในภาพรวมมีแนวโน้มชะลอลง แต่ต้องเฝ้าระวังการผิดนัดชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง

1.3 ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ

1.4 ผู้ป่วยเอดส์มีแนวโน้มลดลง แต่ต้องเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของกลุ่มเยาวชนที่นำไปสู่การเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีที่มาจากเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย

1.5 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น และต้องเฝ้าระวังกลุ่มเยาวชนเริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุน้อยลง

1.6 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินโดยรวมดีขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ยาเสพติดทั้งในกลุ่มผู้ค้าและผู้เสพเพื่อลดปัญหาอย่างยั่งยืน

1.7 การเสริมสร้างวินัยเป็นหนทางลดความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุจราจรทางบกอย่างยั่งยืน

1.8 การเปิดตัวรายงานความก้าวหน้าในการต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำปี

2. บทความพิเศษเรื่อง “การยกระดับสมรรถนะแรงงาน : ความท้าทายที่ต้องเร่งดำเนินการ”

2.1 โครงสร้างแรงงานเป็นข้อจำกัดต่อการพัฒนาประเทศ ดังนี้

2.1.1 แรงงานส่วนใหญ่มีการศึกษาภาคบังคับและเป็นแรงงานสูงอายุ

2.1.2 แรงงานกว่าครึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ

2.1.3 แรงงานมีภาวะตึงตัวและการผลิตแรงงานยังไม่ตรงกับความต้องการ

2.1.4 คุณภาพแรงงาน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2544 - 2557) ผลิตภาพแรงงานของไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งแรงงานในสถานประกอบการยังขาดทักษะที่จำเป็นคือ ภาษาต่างประเทศ คอมพิวเตอร์ ความคิด สร้างสรรค์และการวิเคราะห์ เป็นต้น

2.2 แนวทางและปัญหาการยกระดับสมรรถนะแรงงาน

2.2.1 การพัฒนาทักษะเน้นยกระดับฝีมือแรงงานแต่ยังขาดประเมินเชิงคุณภาพ

2.2.2 การเข้าถึงข้อมูล และการพัฒนาสมรรถนะแรงงานเพื่อรองรับการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงยังมีข้อจำกัด

2.2.3 การพัฒนามาตรฐานอาชีพและมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อยกระดับสมรรถนะแรงงาน

3. ประเด็นสังคมที่ต้องเฝ้าระวังในระยะต่อไป

3.1 ตลอดปี 2558 ปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตแรงงาน ได้แก่ ปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ และผลิตภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้นช้า การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการนำแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนมายื่นพิสูจน์สัญชาติก่อนสิ้นสุดระยะเวลา รวมถึงการเข้มงวดในการจับกุมลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย

3.2 การแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยการเร่งสร้างวินัยและส่งเสริมการออมตั้งแต่ช่วงวัยเด็กจนถึงวัยแรงงาน โดยการปลูกฝังพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างประหยัด สมเหตุสมผลตั้งแต่ช่วงวัยเด็กและการส่งเสริมการออมในวัยแรงงานเพื่อสร้างความมั่นคงของครอบครัวและชีวิตในวัยเกษียณ

3.3 การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในปี 2558 ควรเน้นการดำเนินงานเชิงรุกทั้งในด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ การมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายและภาคประชาชน การสกัดกั้นตามแนวชายแดน การป้องกันในกลุ่มผู้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดรายใหม่ รวมทั้งการบูรณาการกระบวนการป้องกัน ปราบปรามและบำบัดผู้ติดยาเสพติด เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.4 การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในปี 2558 โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินการตรวจจับ ควบคุมดูแล บังคับใช้และดำเนินคดีด้านการจราจรทางบกมีบทลงโทษทั้งจำและปรับที่รุนแรง รวมทั้งรณรงค์การลดอุบัติเหตุและปลูกจิตสำนึกความปลอดภัยและป้องกันตนจากอุบัติเหตุ

3.5 แนวทางการพัฒนาสมรรถนะแรงงาน โดยเร่งพัฒนามาตรฐานอาชีพให้ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะสาขาอาชีพที่มีศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ สร้างความรู้ด้านคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานฝีมือแรงงาน ส่งเสริมภาครัฐให้เป็นหน่วยสนับสนุนภาคเอกชนที่มีประสิทธิภาพ และเร่งส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานในสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มีนาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ