ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การบังคับคดีปกครอง)

ข่าวการเมือง Tuesday June 16, 2015 16:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การบังคับคดีปกครอง) ตามที่ศาลปกครองสูงสุด (ศป.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานศาลยุติธรรม ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

ศป. เสนอว่า โดยที่ในปัจจุบันการดำเนินการบังคับคดีปกครองยังมีข้อขัดข้อง เนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดรายละเอียดในการดำเนินการบังคับคดีปกครองให้ครอบคลุมคดีปกครองทุกประเภท ซึ่งคดีปกครองมีลักษณะเฉพาะไม่สามารถนำหลักการของการบังคับคดีแพ่งมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการบังคับคดีให้มีประสิทธิภาพในทุกกรณีได้ อีกทั้งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติโดยชัดแจ้งให้มีการออกระเบียบเกี่ยวกับการบังคับคดีปกครองได้ และยังปรากฏว่าในกรณีที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลปกครองให้ถูกต้องครบถ้วนหรือปฏิบัติล่าช้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร ยังไม่มีมาตรการที่จะบังคับให้มีการปฏิบัติตาม คำบังคับของศาลได้ นอกจากนี้ สมควรกำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจออกระเบียบกำหนดให้คำบังคับของคดีบางประเภทของศาลปกครองชั้นต้นมีผลบังคับแม้จะมีการอุทธรณ์คำพิพากษา เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องรอการปฏิบัติตามคำพิพากษาในระหว่างการพิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์ จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจเพิ่มขึ้นในการออกระเบียบเกี่ยวกับการบังคับคดีปกครองและการกำหนดมาตรการบังคับให้การบังคับคดีบรรลุผล

2. กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจออกระเบียบกำหนดให้ปฏิบัติตามคำบังคับตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น แม้จะมีการอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขอทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น การสั่งคำขอ การอุทธรณ์คำสั่งตามคำขอดังกล่าว การวางหลักประกัน และการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ตามคำสั่งทุเลาการบังคับด้วย

3. กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจออกคำสั่งให้หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องชำระค่าปรับ ในกรณีที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมิได้ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลปกครองหรือปฏิบัติล่าช้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ชำระค่าปรับต่อศาล ศาลปกครองอาจมีคำสั่งให้มีการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของบุคคลนั้นได้ ทั้งนี้ ศาลปกครองอาจรายงานผู้บังคับบัญชา ผู้กำกับดูแล ผู้ควบคุม หรือนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการแก้ไขปรับปรุงหรือสั่งการหรือลงโทษทางวินัยต่อไปก็ได้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มิถุนายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ