การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU)

ข่าวการเมือง Tuesday November 10, 2015 16:47 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) และการจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) และการจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ดังนี้

1. การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ประสงค์จะทำงานในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวที่อายุไม่เกิน 15 ปี อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักรและอนุญาตให้ทำงานเป็นเวลา 1 ปี และในระหว่างการอนุญาตทำงาน หากแรงงานประสงค์ที่จะตรวจสัญชาติก็เปิดโอกาสให้มีการตรวจสัญชาติควบคู่กันไปด้วย โดยให้ไปดำเนินการที่สถานทูต (เมียนมา ลาว กัมพูชา) ประจำประเทศไทย

2. แนวทางการจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม ดำเนินการใน 2 ลักษณะ ดังต่อไปนี้ (ไม่รวมผู้ติดตาม)

2.1 ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนามทำงานได้ชั่วคราว

ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนามอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลา 30 วัน เพื่อขอรับการตรวจลงตราและประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพ และขออนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว

2.2 การนำเข้าแรงงานเวียดนาม

ทางการเวียดนามแจ้งว่าจะมอบหมายให้บริษัทจัดหางานเวียดนาม จำนวน 10 บริษัท เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดส่งแรงงานมาทำงานในประเทศไทย สำหรับการดำเนินการของทางการไทย ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งอาจดำเนินการตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 โดยมอบหมายให้สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยประสานการดำเนินงานกับบริษัทจัดหางานกรณีนำเข้าแรงงานประมง สำหรับการนำเข้าแรงงานก่อสร้าง ดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับแรงงานประมง โดยให้สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นผู้ประสานงาน ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะกำหนดแนวทางการนำเข้าแรงงานเวียดนามให้มีความโปร่งใส สะดวก ประหยัด และรวดเร็ว โดยเสนอคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.)พิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง ก่อนเริ่มดำเนินการนำเข้าแรงงานเวียดนามต่อไป

3. การออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา

อัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (Visa) ให้กับแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาในราชอาณาจักรอย่างถูกต้องตามกฎหมายปกติจัดเก็บในอัตรา 2,000 บาท ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงเพื่อจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรอย่างถูกกฎหมายตามข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งชาติอื่น (MOU) หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษปกติในอัตรา 500 บาท โดยจะมีผลใช้บังคับเป็นเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ซึ่งจะสิ้นผลการใช้บังคับในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 จำเป็นต้องออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ เพื่อกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมให้แก่แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา รวมถึงแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ