ร่างพระราชบัญญัติมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา

ข่าวการเมือง Tuesday March 1, 2016 18:38 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ. .... ขอกระทรวงยุติธรรม ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดบทนิยามคำว่า “การไกล่เกลี่ยคดีอาญา” “คู่กรณี” “ผู้ไกล่เกลี่ย” และ “การชะลอการฟ้อง”

2. กำหนดให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอัยการสูงสุดรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน

3. กำหนดมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา ได้แก่ การไกล่เกลี่ยคดีอาญาและการชะลอการฟ้อง โดยไม่ให้ใช้บังคับกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว แต่คดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารและมีเหตุที่อาจใช้มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญาได้ ให้ใช้บังคับได้โดยอนุโลม ส่วนในคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง เมื่อมีคำสั่งให้ใช้มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา มิให้นำบทบัญญัติในเรื่องการฟ้องและการผัดฟ้องมาใช้บังคับและเมื่อได้มีคำสั่งให้ใช้มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญาแล้ว ให้ถือเป็นเหตุอายุความสะดุดหยุดอยู่ ตลอดจนห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐาน คำรับสารภาพ หรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการใช้มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญาเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี

4. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการไกล่เกลี่ย เช่น กำหนดคดีความผิดที่สามารถไกล่เกลี่ยได้ กำหนดพฤติการณ์ของการกระทำที่ได้รับการไกล่เกลี่ย กำหนดการไกล่เกลี่ยคดีกรณีที่มีผู้เสียหายหลายคน รวมทั้งกำหนดอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย

5. กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ย และกำหนดให้การยื่นคำขอ การรับขึ้นทะเบียน และการตรวจคุณสมบัติการถอนชื่อ ให้กำหนดในกฎกระทรวง

6. กำหนดกระบวนการไกล่เกลี่ยคดีอาญา เช่น กำหนดระยะเวลานัดไกล่เกลี่ยระยะเวลาไกล่เกลี่ยคดีอาญาให้แล้วเสร็จ การจัดหาล่าม กำหนดให้ผู้ไกล่เกลี่ยยุติการไกล่เกลี่ยเมื่อมีเหตุตามที่กำหนด

7. กำหนดเกี่ยวกับผลของการไกล่เกลี่ยคดีอาญา เช่น ผู้เสียหายจะฟ้องคดีมิได้จนกว่าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะมีคำสั่งให้ดำเนินคดีต่อไป การไกล่เกลี่ยไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนที่จะทำการสอบสวนต่อไป

8. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการชะลอการฟ้อง เช่น กำหนดมูลเหตุที่พนักงานอัยการอาจพิจารณามีคำสั่งให้ชะลอการฟ้องได้ และในการพิจารณามีคำสั่งให้ชะลอการฟ้อง พนักงานอัยการอาจดำเนินการตามที่กำหนดได้

9. กำหนดเกี่ยวกับผลของคำสั่งชะลอการฟ้อง เช่น ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาในกรณีที่ถูกคุมขังอยู่ ผู้เสียหายจะฟ้องคดีมิได้จนกว่าพนักงานอัยการจะมีคำสั่งให้ดำเนินคดีต่อไป กำหนดมูลเหตุที่พนักงานอัยการจะพิจารณาสั่งให้ดำเนินคดีอาญาต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 มีนาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ