ขอความเห็นชอบและลงนามพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 7 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน

ข่าวการเมือง Tuesday April 26, 2016 16:21 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอความเห็นชอบและลงนามพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 7 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 7 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน และตารางข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินซึ่งเป็นภาคผนวกแนบท้ายพิธีสารฯ และอนุมัติการลงนามในร่างพิธีสารฯ โดยมอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนาม หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขถ้อยคำที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงการคลังดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลังตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 (เรื่องการจัดทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ)

2. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในพิธีสารดังกล่าว

3. ให้นำเสนอร่างพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 7 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียนและตารางข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินซึ่งเป็นภาคผนวกแนบท้ายพิธีสารฯ เข้าสู่การพิจาณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบ เพื่อดำเนินการให้พิธีสารฯ มีผลผูกพันต่อไป

4. เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบตามข้อ 3 แล้วให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการจัดทำสัตยาบันสารของพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 7 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน และส่งมอบให้สำนักเลขาธิการอาเซียน

ร่างพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 7 และตารางข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงตารางข้อผูกพันในสาขาย่อยประกันชีวิตและประกันวินาศภัย โดยได้ปรับปรุงในเรื่องสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติและเรื่องสัดส่วนกรรมการที่ไม่มีสัญชาติไทยให้เท่ากับกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 จึงเป็นการดำเนินการเพื่อยกระดับข้อผูกพันให้เทียบเท่ากฎหมายและแนวปฏิบัติที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และจะเป็นส่วนสำคัญของการส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในเชิงลึกและกว้างขวางมากขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะเกิดจากการลดข้อจำกัดต่อผู้ให้บริการของอาเซียนในการให้บริการ และเข้ามาจัดตั้งกิจการในประเทศสมาชิกอื่นซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนไทยสามารถขยายการค้าการลงทุนในสาขาบริการด้านการเงินออกไปยังประเทศอาเซียนอื่นได้สะดวกยิ่งขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 เมษายน 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ