ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday June 14, 2016 17:29 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้การให้ความคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การระหว่างประเทศหรือการประชุม ระหว่างประเทศต้องทำความตกลงเป็นหนังสือ รวมทั้งจะต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้และให้เท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การดำเนินงานขององค์การระหว่างประเทศหรือการประชุมระหว่างประเทศ โดยคำนึงถึงพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ แนวปฏิบัติระหว่างประเทศและสถานะขององค์การระหว่างประเทศนั้น

2. กำหนดให้ในการดำเนินการเพื่อทำความตกลงคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การระหว่างประเทศหรือการประชุมระหว่างประเทศ หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องหารือ กต. เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองดังกล่าว

3. กำหนดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเสนอความตกลงคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การระหว่างประเทศหรือการประชุมระหว่างประเทศพร้อมทั้งคำแนะนำของ กต. ไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพันตามความตกลง

4. กำหนดให้องค์การระหว่างประเทศตามความตกลงที่ได้ทำขึ้นได้รับความคุ้มครองการดำเนินงาน ทั้งนี้ เท่าที่ระบุในความตกลงนั้น ส่วนหัวหน้าและรองหัวหน้าของสำนักงานขององค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ ซึ่งจะได้รับเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกัน ต้องได้รับความเห็นชอบจาก กต. ด้วย

5. กำหนดให้การประชุมระหว่างประเทศและบุคคลที่เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศตามความตกลงที่ได้ทำขึ้นได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันในระหว่างการประชุมระหว่างประเทศ หรือการเข้ามาในประเทศไทยเพื่อปฏิบัติหน้าที่หรือในการปฏิบัติภารกิจหรือการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ เท่าที่ระบุในความตกลงนั้น

6. กำหนดขอบเขตของเอกสิทธิ์และความคุ้มกันขององค์การระหว่างประเทศและบุคลากรขององค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศระดับกึ่งรัฐบาลและองค์การเอกชนระหว่างประเทศ โดยจะได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ เช่น การยกเว้นข้อจำกัดเกี่ยวกับการเข้าเมืองและการจดทะเบียนคนต่างด้าว ข้อกำกัดด้านการเงินและการแลกเปลี่ยนเงินตรา การยกเว้นภาษีทางตรง อากรศุลกากรและข้อห้ามข้อจำกัดว่าด้วยการนำเข้าและส่งออกสิ่งของบางประเภท รวมทั้งกำหนดให้บุคคลอื่นซึ่งปฎิบัติภารกิจเพื่อองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล จะได้รับความคุ้มกันจากการดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับถ้อยคำด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรและการกระทำทั้งปวงที่ได้กระทำในตำแหน่งหน้าที่ ทั้งนี้ เฉพาะที่ได้กระทำโดยสุจริต

7. กำหนดขอบเขตของเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของการประชุมระหว่างประเทศผู้แทนของรัฐหรือรัฐบาล เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ ผู้เข้าร่วมการประชุม หรือบุคคลอื่น ซึ่งปฎิบัติภารกิจเพื่อการประชุมระหว่างประเทศ จะได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันในระหว่างการประชุมในประเทศไทย หรือเข้ามาในประเทศไทยเพื่อปฏิบัติหน้าที่หรือภารกิจเกี่ยวกับการประชุมนั้นไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ เช่น การยกเว้นอากรศุลกากรและข้อห้ามข้อจำกัดว่าด้วยการนำเข้าและส่งออกสิ่งของบางประเภท และความคุ้มกันจากการดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับถ้อยคำด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรและการกระทำทั้งปวงที่ได้กระทำในตำแหน่งหน้าที่ ทั้งนี้ เฉพาะที่ได้กระทำโดยสุจริต

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 มิถุนายน 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ