รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย-ออสเตรเลีย

ข่าวการเมือง Tuesday June 14, 2016 17:48 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งออสเตรเลีย พร้อมทั้งบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-ออสเตรเลีย ฉบับลงนาม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลงนามความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศดังกล่าว

3. อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยันการมีผลใช้บังคับของความตกลงฯ และบันทึกความเข้าใจดังกล่าวต่อไป โดยให้ กต. สามารถปรับถ้อยคำตามความเหมาะสมที่ไม่กระทบกับสาระสำคัญ

สาระสำคัญของเรื่อง

ร่างความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างไทย-ออสเตรเลีย และบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-ออสเตรเลีย ที่ คค. เสนอในครั้งนี้ ลงนามเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย ได้ตกลงกันในรายละเอียดต่าง ๆ สรุปได้ ดังนี้

1. ร่างความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศฉบับใหม่ จะใช้แทนความตกลงฯ ฉบับลงนามเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2503 โดยมีการระบุข้อบทต่าง ๆ ดังนี้

ข้อบท/รายละเอียด

1. การกำหนดสายการบิน การอนุญาต และการเพิกถอน

  • แยกหลักการของการกำหนดสายการบินของทั้งสองฝ่ายออกจากกัน และนำข้อบทว่าด้วยการเพิกถอนมารวมไว้ในข้อนี้ด้วย

2. การให้สิทธิ

  • กำหนดประเภทสิทธิต่าง ๆ ให้ชัดเจน ทั้งนี้ จะใช้บังคับเฉพาะการบินแบบประจำ

3. ความปลอดภัยการบินและการรักษาความปลอดภัยการบิน

  • เพิ่มข้อบทเรื่องความปลอดภัยการบินและการรักษาความปลอดภัยการบินไว้ในความตกลงฯ โดยเนื้อหาของข้อบทดังกล่าวเป็นไปตามคำแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) อีกทั้งมีการระบุสิทธิการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยการบินให้สอดคล้องกับกฎหมายออสเตรเลียและไทยด้วย

4. อากร ภาษีและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ

  • ให้การยกเว้นข้อจำกัดการนำเข้าในขอบเขตอย่างเต็มที่ที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ภายใต้กฎหมายของชาติตนเท่านั้น

5. พิกัดอัตราค่าขนส่ง

  • กำหนดพิกัดอัตราค่าขนส่งของตนเองได้ และไม่ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่การเดินอากาศของฝ่ายใดทราบ เว้นแต่มีกฎหมายหรือข้อบังคับภายในระบุให้แจ้ง

6. การอนุญาตใช้กำหนดการบิน

  • เพิ่มข้อความ “สายการบินที่กำหนดของภาคีผู้ทำความตกลงแต่ละฝ่ายจะต้องยื่นกำหนดการบินที่คาดการณ์ของตนไปยังเจ้าหน้าที่การเดินอากาศของภาคีผู้ทำความตกลงอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อการอนุญาต ภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยกฎหมายหรือข้อบังคับภายในประเทศของภาคีผู้ทำความตกลงแต่ละฝ่าย ...”

7. ภาคผนวกใบพิกัดเส้นทางบิน

  • ระบุเส้นทางบินเป็นแบบเปิดเพื่อความยืดหยุ่นในการดำเนินบริการของสายการบินไทย จุดใด ๆ ในไทย-จุดระหว่างทางใด ๆ –จุดใด ๆ ในออสเตรเลีย-จุดพ้นใด ๆ ออสเตรเลีย จุดใด ๆ ในออสเตรเลีย-จุดระหว่างทางใด ๆ –จุดใด ๆ ในไทย-จุดพ้นใด ๆ

2. บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-ออสเตรเลีย มีการปรับปรุงสิทธิการบิน ดังนี้

ประเด็น/รายละเอียด

1. ความจุความถี่

  • เปลี่ยนแปลงสิทธิความจุความถี่จากระบบเดิมที่ระบุเป็น “สัมประสิทธิ์เทียบหน่วยความจุ” ของอากาศยาน มาเป็น “ความจุ”
  • จำนวนสิทธิความจุ ดังนี้

1) สายการบินที่กำหนดของไทย การบริการไปยัง/มาจากซิดนีย์ เมลเบิร์น (รวมถึงอวาลอน) บริสเบน และเพิร์ท จำนวนรวมไม่เกิน 20,000 ที่นั่งต่อสัปดาห์ และท่าอากาศยานอื่น ๆ ในออสเตรเลียจะไม่จำกัดจำนวนความจุความถี่และแบบของอากาศยาน

2) สายการบินที่กำหนดของออสเตรเลีย การบริการไปยัง/มาจากกรุงเทพฯ ภูเก็ต อู่ตะเภา และเชียงราย จำนวนรวมไม่เกิน 20,000 ที่นั่งต่อสัปดาห์ และท่าอากาศยานระหว่างประเทศอื่น ๆ ในไทยไม่จำกัดจำนวนความจุความถี่และแบบของอากาศยาน

2. สิทธิรับขนการจราจร

  • ออสเตรเลียและไทยสามารถใช้สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 3 4 และ 5 ได้อย่างเต็มที่ในแต่ละทิศทางได้ทุกจุด รวมถึงจุดระหว่างทางและจุดพ้น ยกเว้น

1) สายการบินที่กำหนดของออสเตรเลียจะไม่ใช้สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 ในแต่ละทิศทางกับจุดใด ๆ ในจีน รวมถึงจุดระหว่างทางและจุดพ้นต่าง ๆ (ยกเว้นฮ่องกง)

2) สายการบินที่กำหนดของไทยจะไม่ใช้สิทธิรับขนการจราจรในแต่ละทิศทางกับจุดใด ๆ ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงจุดระหว่างทางและจุดพ้น

  • นอกจากนี้ สำหรับการทำการบินเที่ยวบินขนส่งเฉพาะสินค้าตามเส้นทางบินที่ระบุของตน สายการบินที่กำหนดของออสเตรเลียและไทยสามารถใช้สิทธิโดยไม่มีข้อจำกัดด้านความจุ/ความถี่ และแบบอากาศยาน

3. เรื่องอื่น ๆ

  • ระบุให้บันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับเมื่อได้แลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตระหว่างกันแล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 มิถุนายน 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ