มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการใหม่และนวัตกรรมผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และนวัตกรรม

ข่าวการเมือง Tuesday July 5, 2016 17:58 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการใหม่และนวัตกรรมผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และนวัตกรรม (Start-up & Innovation) ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการใหม่และนวัตกรรมผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และนวัตกรรม (Start-up & Innovation) ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. รายงานว่า โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และนวัตกรรม (Start-up & Innovation) มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

รายการ/รายละเอียด

วัตถุประสงค์
  • เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่รัฐให้การส่งเสริมเป็นพิเศษทั้งกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ (Start–up SMEs) กลุ่มผู้ประกอบการนวัตกรรมและเทคโนโลยี(Innovation & Technology SMEs) ที่มีศักยภาพให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้เพิ่มขึ้น
  • เพื่อเพิ่มผลิตภาพสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมในประเทศ ส่งผลต่อการเพิ่มของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP)ของ SMEs และ GDP ของประเทศ
  • เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงเครือข่ายของภาครัฐและเอกชนเพื่อให้การช่วยเหลือ SMEs ในกลุ่มนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
วงเงินค้ำประกันโครงการ
  • 10,000 ล้านบาท
ลักษณะการค้ำประกัน
  • Package Guarantee Scheme
อายุการค้ำประกันโครงการ
  • ไม่เกิน 10 ปี
วงเงินค้ำประกันต่อราย SMEs

กรณี SMEs ประเภทบุคคลธรรมดา (รวมทุกสถาบันการเงิน)

  • ผู้ประกอบการใหม่ (Start–up SMEs) ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย
  • ผู้ประกอบการนวัตกรรม เทคโนโลยี (Innovation Technology SMEs) ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย

กรณี SMEs ประเภทนิติบุคคล (รวมทุกสถาบันการเงิน)

  • ผู้ประกอบการใหม่ (Start–up SMEs) ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย
  • ผู้ประกอบการนวัตกรรม เทคโนโลยี ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย

ทั้งนี้ อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน
  • ร้อยละ 1-2 ต่อปีของวงเงินค้ำประกันตลอดอายุการค้ำประกันโครงการโดยธนาคารเป็นผู้พิจารณาตามความเสี่ยงของลูกค้า ทั้งนี้ค่าธรรมเนียมค้ำประกันในปีแรกรัฐบาลเป็นผู้รับภาระแทน SMEs
ระยะเวลารับคำขอค้ำประกัน
  • ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2561 (ในแต่ละรอบปีถือเป็น 1 Package)
คุณสมบัติ SMEs

1. เป็น SMEs ที่มีทรัพย์สินถาวร (ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 200 ล้านบาท

2. เป็น SMEs ประเภทบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย

3. เป็น SMEs ที่ประกอบกิจการโดยชอบด้วยกฎหมาย และต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี

4. เป็น SMEs ที่ได้รับสินเชื่อใหม่และจะต้องไม่นำไปชำระหนี้เดิมกับผู้ให้กู้

5. เป็น SMEs ที่เป็นลูกหนี้ปกติตามเกณฑ์ข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย

6. กรณี SMEs ที่เป็นผู้ประกอบการรายใหม่

6.1 มีอายุกิจการไม่เกิน 3 ปี โดยพิจารณาจากการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือการจดทะเบียนการค้า หรือเอกสารทางราชการ หรือเอกสารอื่นใดที่ บสย. เห็นชอบ

6.2 ผ่านการฝึกอบรมหรืออยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเข้าร่วมการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการธุรกิจ จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่ บสย. เห็นชอบ

7. กรณี SMEs ที่เป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม เทคโนโลยี (Innovation Technology SMEs)

7.1 เป็นธุรกิจที่มีนวัตกรรมใหม่ (Innovation) หรือสินค้า/บริการ/กระบวนการ ที่มีความแตกต่างจากเดิม (Differentiation) โดยธนาคารเป็นผู้รับรองและยืนยัน

7.2 เป็นธุรกิจที่มีนวัตกรรม เทคโนโลยี ที่มีรายชื่อผ่านการพิจารณาคุณสมบัติจากหน่วยงานรัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ บสย. เห็นชอบ

ความรับผิดชอบในการจ่ายค่าประกันชดเชยของ บสย.
  • บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยตามภาระหนี้ต้นเงินคงเหลือแต่ไม่เกินวงเงินค้ำประกัน เมื่อสถาบันการเงินได้ดำเนินคดีกับ SMEs แล้ว
  • บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยเมื่อล่วงพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ออกหนังสือค้ำประกัน
  • บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยในแต่ละ Package ไม่เกินค่าธรรมเนียมรับบวกเงินสมทบที่ได้รับการเบิกจ่ายจากรัฐบาลร้อยละ 15 และเงินสมทบของ บสย. ในอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินอนุมัติค้ำประกัน ทั้งนี้ เงินสมทบส่วนแรกจากรัฐบาลร้อยละ 15 แบ่งจ่ายเป็นรายปี ในเวลา 5 ปีแรก
  • ในอัตราร้อยละ 4.5 ร้อยละ 4.5 ร้อยละ 2 ร้อยละ 2 และร้อยละ 2 ของวงเงินอนุมัติค้ำประกันตามลำดับ และเงินสมทบส่วนที่สองจาก บสย. ร้อยละ 2 ของวงเงินอนุมัติค้ำประกัน โดย บสย. จะจ่ายเมื่อค่าธรรมเนียมรับและเงินสมทบจากรัฐบาลเต็มจำนวนแล้ว
  • บสย.จะรับผิดจ่ายค่าประกันชดเชยไม่เกินร้อยละ 100 ของภาระค้ำประกันที่ออกให้แก่ SMEs แต่ละราย ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายจากเงินค่าธรรมเนียมรับหรือจากเงินสมทบจากรัฐบาล ทั้งนี้ เมื่อการจ่ายจากเงินสมทบจากรัฐบาลเกินร้อยละ 11 แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของวงเงินอนุมัติค้ำประกันแต่ละ Package บสย. จะรับผิดจ่ายค่าประกันชดเชยไม่เกินร้อยละ 80 ของภาระค้ำประกันที่ออกให้แก่ SMEs แต่ละรายแต่หากการจ่ายจากเงินสมทบจากรัฐบาลเต็มจำนวนร้อยละ 15 ของวงเงินอนุมัติค้ำประกันแต่ละ Package แล้ว บสย. จะรับผิดจ่ายค่าประกันชดเชยไม่เกินร้อยละ 50 ของภาระค้ำประกันที่ออกให้แก่ SMEs แต่ละราย ทั้งนี้ ไม่เกินค่าธรรมเนียมรับบวกเงินสมทบร้อยละ 17 ของวงเงินอนุมัติค้ำประกัน
การสนับสนุนจากรัฐบาล

บสย. ขอรับเงินสมทบการจ่ายค่าประกันชดเชย และค่าธรรมเนียมค้ำประกันในปีแรกจากรัฐบาล จำนวน 1,700 ล้านบาท ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1. เงินสมทบที่ขอรับการเบิกจ่ายจากรัฐบาลอัตราร้อยละ 15 ของวงเงินอนุมัติค้ำประกันจำนวน 1,500 ล้านบาท (ร้อยละ 15x10,000) โดย บสย.จะสรุปยอดอนุมัติค้ำประกัน ณ สิ้นปี เพื่อนำเสนอขอเงินสมทบการจ่ายค่าประกันชดเชยจากรัฐบาลในปีถัดไป

2. ค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้กับ SMEs ในปีแรกจำนวน 200 ล้านบาท (ร้อยละ 2x10,000)

ผลเชิงเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับ
  • ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่รัฐบาลต้องการส่งเสริม ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 5,000 ราย
  • ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน 10,000 ล้านบาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 กรกฏาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ