รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย – ลาว

ข่าวการเมือง Tuesday October 4, 2016 18:59 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างไทย – ลาว และบันทึกความเข้าใจ ฉบับจัดทำวันที่ 18 มีนาคม 2559

2. เห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของไทยและลาว

3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายลงนามในความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างไทย – ลาว

4. อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยันการมีผลใช้บังคับของความตกลงฯ และบันทึกความเข้าใจ โดยให้ กต. สามารถปรับถ้อยคำตามความเหมาะสมที่ไม่กระทบกับสาระสำคัญ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ร่างความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างไทย – ลาว ฉบับจัดทำเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2559 เพื่อใช้แทนที่ความตกลงฯ ฉบับเดิมที่ลงนามเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2520 เพื่อให้ความตกลงฯ มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และกฎหมายภายในของทั้งสองฝ่าย โดยร่างความตกลงฯ ฉบับใหม่มีการจัดทำเป็นภาษาอังกฤษ และปรับปรุงตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยเพิ่มเติมข้อบทที่สำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนคำนิยามคำว่า “เจ้าหน้าที่การเดินอากาศ” ในกรณีของราชอาณาจักรไทย เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรการกำกับดูแลการบินพลเรือน การกำหนดและการอนุญาตหลักการในการกำหนดสายการบินและคุณสมบัติของสายการบินที่จะใช้สิทธิภายใต้ความตกลงฯ การให้สิทธิรัฐภาคีในการระงับ เพิกถอน และพักใช้ใบอนุญาตดำเนินการ ในกรณีที่สายการบินไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด หรือไม่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ความปลอดภัยการบินที่ภาคีคู่สัญญาต้องคงไว้ซึ่งมาตรฐานความปลอดภัยตามที่ ICAO กำหนดไว้ และข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือ/การทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน

2. ร่างหนังสือการแลกเปลี่ยนทางการทูตของไทย – ลาว มีข้อแก้ไขเกี่ยวกับสิทธิความจุการทำการบินรับขนส่งผู้โดยสารของทั้งสองฝ่ายเพิ่มมากขึ้น และแก้ไขสายการบินที่กำหนด ดังนี้

รายการ/สาระสำคัญ

สิทธิความจุ

เส้นทางกรุงเทพฯ – เวียงจันทร์ และกลับ เพิ่มเป็น 14,500 ที่นั่งต่อสัปดาห์

เส้นทางกรุงเทพฯ – หลวงพระบาง และกลับ เพิ่มเป็น 10,000 ที่นั่งต่อสัปดาห์

เส้นทางสนามบินศุลกากรในประเทศไทย – สนามบินศุลกากรใน สปป. ลาว เพิ่มเป็น 2,100 ที่นั่งต่อสัปดาห์

สายการบินที่กำหนด

ของไทย ได้แก่

(1) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

(2) บริษัท การบินกรุงเทพจำกัด (มหาชน)

(3) บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด

(4) บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด และ

(5) บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) และของสปป.ลาว ได้แก่ (1) ลาวแอร์ไลนส์ และ (2) ลาวเซ็นทรัล แอร์ไลนส์

ทั้งนี้ เพื่อรับรองความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สายการบิน ของไทยที่ทำการบินไปยังลาว 3 สายการบิน มีความยืดหยุ่นในการวางแผนการให้บริการ และเปิดโอกาสให้สามารถเพิ่มบริการระหว่างกันได้มากขึ้นในภาพรวม รวมทั้งเปิดโอกาสให้สายการบินของไทยรายอื่น ๆ ที่มีความพร้อมสามารถทำการบินไปยังประเทศลาวได้เช่นกัน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 ตุลาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ