ทบทวนโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี

ข่าวการเมือง Tuesday November 22, 2016 16:43 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ทบทวนโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/60 (เพิ่มเติม)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวสามารถเข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/60 โดยให้เป็นไปตามกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบไว้แล้วเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559

2. เห็นชอบการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวเปลือกเหนียวนาปี ปีการผลิต 2559/60

3. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 12,471.47 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณต่อไป

4. ขยายระยะเวลาโครงการฯ สำหรับภาคใต้

สาระสำคัญของเรื่อง

พณ. รายงานว่า ในการประชุม นบข. เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ที่ประชุมได้พิจารณาทบทวนโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/60 และมีมติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวสามารถเข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/60 มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (ข้าวเหนียว) ปีการผลิต 2559/60

1.1 พื้นที่ดำเนินการ ให้ ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกเหนียว จากเดิมที่เห็นชอบข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 โดยให้อยู่ในกรอบข้าวเปลือกหอมมะลิ จำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 ในพื้นที่ปลูกข้าวทุกจังหวัดทั่วประเทศ

1.2 กรอบระยะเวลาการให้สินเชื่อ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

1.3 วงเงินสินเชื่อต่อตัน ข้าวเปลือกเหนียวที่ความชื้นไม่เกินร้อยละ 14 สิ่งเจือปนไม่เกินร้อยละ 2 ในอัตราไม่เกินร้อยละ 90 ของราคาตลาด โดยพิจารณาจากราคาตลาดเฉลี่ยปัจจุบัน ตันละ 10,560 บาท กำหนดวงเงินสินเชื่อตันละ 9,500 บาท

1.4 ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ให้มีค่าใช้จ่ายในการตากข้าวเปลือกและค่าแรงงานในการเตรียมข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการ จึงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกตันละ 1,500 บาท โดยจ่ายเป็นค่าเตรียมข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการในวันเบิกรับเงินกู้ 1,000 บาท และจ่ายเพิ่มอีกตันละ 500 บาท ในวันที่ไถ่ถอนข้าวเปลือกหลังจากเข้าร่วมโครงการ ไม่น้อยกว่า 30 วัน

1.5 วงเงินงบประมาณและเป้าหมายในการดำเนินการ ใช้เงินงบประมาณในการดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติวงเงินสินเชื่อและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เป้าหมาย 2 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อ 23,734.00 ล้านบาท และวงเงินค่าใช้จ่าย 3,978.22 ล้านบาท

2. การช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว

2.1 วงเงินช่วยเหลือเกษตรกร กำหนดวงเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือกเหนียว ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เช่นเดียวกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวชนิดอื่น ๆ ตันละ 2,000 บาท (กำหนดไร่ละ 800 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่) หรือไม่เกินครัวเรือนละ 12,000 บาท โดยพิจารณาจากฐานข้อมูลเกษตรกรที่ได้รับเงินสนับสนุน เงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 ทั้งนี้ เกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าวครัวเรือนละไม่เกิน 12,000 บาท ไม่ว่าจะปลูกข้าวชนิดใด

2.2 วงเงินงบประมาณเพื่อดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อเป็นการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว รวม 12,471.47 ล้านบาท ใช้เงินทุน ธ.ก.ส. สำรองจ่ายโดยชดเชยต้นทุนเงินในอัตรา FDR+1 (ปัจจุบันอัตรา FDR เท่ากับร้อยละ 1.225 ต่อปี)

2.3 สำหรับภาคใต้ ขยายโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/60 และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและค่าปรับปรุงคุณภาพข้าว จากเดิมที่กำหนดเวลาตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2559 - 28 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม 2560

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 พฤศจิกายน 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ