การยกเลิกข้อสงวนในความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน ในการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนซึ่งเป็นนิติบุคคลนอกภาคีอาเซียน

ข่าวการเมือง Tuesday March 14, 2017 17:49 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การยกเลิกข้อสงวนในความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน ในการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนซึ่งเป็นนิติบุคคลนอกภาคีอาเซียนที่มีการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญในประเทศสมาชิกอาเซียน

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติมความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน ฉบับที่ 3 (Third Protocol to Amend the ASEAN Comprehensive Investment Agreement)

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามร่างพิธีสารฯ ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 และเมื่อลงนามแล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา แล้วเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบพิธีสารฯ ก่อนแสดงเจตนาให้พิธีสารมีผลผูกพันต่อไป

3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Power) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามในพิธีสารดังกล่าว

4. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการยื่นสัตยาบันสารหรือสารให้ความยอมรับแก่เลขาธิการอาเซียน เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเห็นชอบพิธีสารดังกล่าวแล้ว

5. มอบหมายให้ สกท. จัดให้มีมาตรการเพื่อป้องกันผลกระทบกับผู้ประกอบการไทยอันเนื่องมาจากการยกเลิกข้อสงวนนี้ ทั้งนี้ การยกเลิกข้อสงวนดังกล่าวควรครอบคลุมเฉพาะนักลงทุนนอกภาคีอาเซียนที่มีการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญในประเทศไทย รวมทั้งต้องไม่ขัดกับกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย

6. มอบหมายให้ สกท. รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

ร่างพิธีสารฯ มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกรายการข้อสงวนในความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียนที่ประเทศไทยขอสงวนสิทธิ์การเปิดเสรีให้เฉพาะนักลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนเท่านั้น โดยไม่ให้สิทธิ์กับนักลงทุนนอกภาคีอาเซียนที่ลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นแล้วขยายการลงทุนมาไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนที่สงวนสิทธิ์ดังกล่าว โดยการขอยกเลิกรายการดังกล่าวกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่าไม่ได้ขัดกับพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และไม่ต้องมีการปรับปรุงหรือแก้ไขบทบัญญัติ ใด ๆ ของกฎหมายฉบับนี้ ประกอบกับ สกท. รายงานว่า การยกเลิกข้อสงวนดังกล่าวข้างต้น จะเป็นประโยชน์ต่อการดึงดูดการลงทุน และจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเห็นว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมีความเชื่อมั่นในการขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งยังไม่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย เนื่องจากข้อผูกพันภายใต้ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน ไม่ได้เกินขอบข่ายที่กำหนดภายใต้กฎหมายภายในประเทศที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 มีนาคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ