เอกสารเพิ่มเติม (Addendum) ฉบับที่ 1 ของความตกลงให้ความช่วยเหลือด้านการเงินโครงการกลไกการหารือระดับภูมิภาคที่เพิ่มพูนระหว่างสหภาพยุโรป-อาเซียน

ข่าวการเมือง Tuesday April 11, 2017 18:11 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง เอกสารเพิ่มเติม (Addendum) ฉบับที่ 1 ของความตกลงให้ความช่วยเหลือด้านการเงินโครงการกลไกการหารือระดับภูมิภาคที่เพิ่มพูนระหว่างสหภาพยุโรป-อาเซียน (Enhanced Regional EU-ASEAN Dialogue Instrument: E-READI)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบต่อเอกสารเพิ่มเติม (Addendum) ฉบับที่ 1 ของความตกลงให้ความช่วยเหลือด้านการเงินโครงการกลไกการหารือระดับภูมิภาคที่เพิ่มพูนระหว่างสหภาพยุโรป-อาเซียน (Enhanced Regional EU-ASEAN Dialogue Instrument: E-READI) โดยหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กต. ดำเนินการได้โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง

2. อนุมัติให้เลขาธิการอาเซียนหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในเอกสารดังกล่าว

สาระสำคัญของเรื่อง

วัตถุประสงค์ที่สำคัญของเอกสารเพิ่มเติม (Addendum) ฉบับที่ 1ฯ เพื่อให้บรูไนดารุสซาลามและสิงคโปร์สามารถรับเงินสนับสนุนในการเข้าร่วมโครงการ E-READI รวมถึงสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและกระบวนการรับเงินช่วยเหลือต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ตามหลักการความเสมอภาคและความเท่าเทียมของอาเซียน โดยเป็นการปรับเปลี่ยนในส่วนที่เป็นภาคผนวก 1 บทบัญญัติด้านเทคนิค และด้านการบริหารจัดการของความตกลงให้ความช่วยเหลือด้านการเงินฯ ได้แก่ วัตถุประสงค์(Objective) ผลลัพธ์ที่คาดหวังและกิจกรรมหลัก (Expected results and main activities) ขอบเขตของคุณสมบัติทางภูมิศาสตร์ในการจัดซื้อจัดจ้างและการรับเงินช่วยเหลือ (Scope of geographical eligibility for procurement and grants) ซึ่งเอกสารเพิ่มเติมฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ลงนาม และเอกสารเพิ่มเติมฉบับที่ 1ฯ เป็นการจัดทำเอกสารระหว่างสหภาพยุโรปกับอาเซียนในฐานะที่เป็นองค์การระหว่างประเทศ โดยไทยต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบว่าด้วยการทำความตกลงระหว่างประเทศโดยอาเซียน กล่าวคือ ในกรณีที่เลขาธิการอาเซียนเป็นผู้ลงนามความตกลงระหว่างประเทศของอาเซียนในฐานะที่เป็นองค์การระหว่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) จากรัฐบาลไทย แต่รัฐบาลไทยจะต้องให้ความยินยอมผ่านคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ในการลงนามความตกลง กต. จึงต้องเสนอเรื่องดังกล่าวเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว กต. จึงจะแจ้งสำนักเลขาธิการอาเซียนตามขั้นตอนต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 เมษายน 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ