ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday January 9, 2018 18:55 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยให้รับความเห็นของกระทรวงพาณิชย์ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระบัญญัติ

1. กำหนดทรัพย์อิงสิทธิ หมายความว่า การที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่มีโฉนด และเจ้าของห้องชุด บุคคลหนึ่ง เรียกว่า ผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิ ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ มีสิทธิใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์นั้น และมีหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ โดยผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิตกลงจ่ายค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์นั้นให้แก่ผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิ

2. กำหนดให้ผู้ใช้ทรัพย์อิงสิทธิ ผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิและผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยมีกำหนดระยะเวลาการให้ทรัพย์อิงสิทธิไม่เกิน 30 ปี

3. กำหนดให้เมื่อมีการจดทะเบียนทรัพย์อิงสิทธิแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกหนังสือรับรองทรัพย์อิงสิทธิ โดยทำเป็นคู่ฉบับสามฉบับ ซึ่งการออกแบบหนังสือรับรองนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

4. กำหนดสิทธิของผู้ให้ใช้ทรัพย์อิงสิทธิไว้ ดังนี้

4.1 ผู้ใช้ทรัพย์อิงสิทธิสามารถนำทรัพย์อิงสิทธิออกให้เช่า ขาย โอน หรือ ตกทอดแก่ทายาทได้ และนำไปใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้โดยการจำนอง

4.2 ผู้ใช้ทรัพย์อิงสิทธิสามารถดัดแปลง ต่อเติม ปลูกโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างได้ โดยมิจำต้องได้รับอนุญาตจากผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิ เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา และเมื่อสัญญาได้เลิกหรือระงับลง ให้ทรัพย์ซึ่งผู้ใช้ทรัพย์อิงสิทธิได้ทำการดัดแปลง ต่อเติม หรือปลูกสร้างไว้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิ เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา

5. กำหนดหน้าที่ของผู้ใช้ทรัพย์อิงสิทธิในกรณีต้องจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อปัดป้องภยันตรายแก่อสังหาริมทรัพย์ที่มีทรัพย์อิงสิทธิ หรือกรณีบุคคลภายนอกรุกล้ำเข้ามาในอสังหาริมทรัพย์ที่มีทรัพย์อิงสิทธิ หรือเรียกร้องสิทธิ อย่างใดอย่างหนึ่งเหนืออสังหาริมทรัพย์ที่มีทรัพย์อิงสิทธินั้น ให้ผู้ใช้ทรัพย์อิงสิทธิเป็นผู้มีหน้าที่จัดการและให้แจ้งเหตุให้ผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิทราบโดยพลัน

6. กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายที่ดินในหมวด 4 การออกหนังสือแสดงสิทธิ ในที่ดิน และหมวดที่ 6 การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

7. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามกฎหมายเนื่องจากการจดทะเบียนและการออกหนังสือรับรอง ผู้ในความรับผิดชอบของกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มกราคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ