การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

ข่าวการเมือง Tuesday January 30, 2018 17:18 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามมติคณะกรรมการค่าจ้าง (ชุดที่ 19) ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น) ดำเนินการตามมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ได้ดำเนินการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2561 โดยได้มีการศึกษาข้อมูลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และได้มีการกำหนดสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยเทียบเคียงกับสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส มาเลเซีย บราซิล และคอสตาริกา ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ยอมรับว่าเป็นสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่สามารถดูแลคุณภาพชีวิตของลูกจ้างได้

การขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2561 มีดังนี้

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ(บาท/วัน) / จำนวน (จังหวัด) / จังหวัด

308 / 3 / นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

310 / 22 / กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราข พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และอุทัยธานี

315 / 21 / กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี และอุตรดิตถ์

318 / 7 / กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสาคร

320 / 14 / กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราขสีมา พระนครศรีอยุธยา พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี

325 / 7 / กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

330 / 3 / ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง

โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มกราคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ