ขออนุมัติงบกลางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2560 เพิ่มเติม

ข่าวการเมือง Tuesday July 17, 2018 17:31 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบให้ กษ. ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยภาคใต้ ปี 2560 (ช่วงภัยวันที่ 1 พฤศจิกายน ถึง 31 ธันวาคม 2560)

2. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2560 ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือครัวเรือนละ 3,000 บาท รวม 3 ช่วงภัย ได้แก่

(1) ช่วงภัยวันที่ 5 กรกฎาคม ถึง 15 สิงหาคม 2560 (พายุตาลัสและเซินกา)

(2) ช่วงภัยวันที่ 16 สิงหาคม ถึง 31 ตุลาคม 2560 (พายุทกซูรี หย่อมความกดอากาศ และร่องมรสุม) และ

(3) ช่วงภัยวันที่ 1 พฤศจิกายน ถึง 31 ธันวาคม 2560 กรอบวงเงินทั้งสิ้น 3,136.735 ล้านบาท โดยขอถัวจ่ายงบประมาณระหว่างภัยได้ ทั้งนี้ คำขออนุมัติจัดสรรงบประมาณของ กษ. ให้ถือว่าเป็นคำขออนุมัติจัดสรรงบประมาณของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ทั้งนี้ ให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่กระทรวงการคลังอนุมัติให้ขยายเวลาเบิกจ่ายเงินงบประมาณถึงวันทำการสุดท้ายของเดือนกันยายน 2561 ในกรอบวงเงิน 3,136.735 ล้านบาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

แนวทางการให้ความช่วยเหลือ มีลักษณะเดียวกับการช่วยเหลือที่คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 และ 7 พฤศจิกายน 2560

1. คุณสมบัติเกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือ มีดังนี้

(1)เกษตรกรที่มีพื้นที่การผลิตอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน [อุทกภัย หรือ อุทกภัยและวาตภัย หรืออุทกภัยและ....(หมายถึง อุทกภัยและภัยอื่น ๆ ตามที่จังหวัดประกาศ) หรือน้ำไหลหลาก หรือน้ำเอ่อล้นตลิ่ง] ช่วงภัยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ถึง 31 ธันวาคม 2560 ในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา สุราษฎร์ธานี สงขลา สตูล และพังงา และต้องเป็นเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 (ช่วงพายุตาลัสและเซินกา) และวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 (ช่วงพายุทกซูรี หย่อมความกดอากาศ และร่องมรสุม)

(2) เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรและมีการทำกิจกรรมการเกษตรตามที่แจ้งขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของ กษ. ก่อนเกิดภัยเท่านั้นหากเกษตรรายใดได้รับผลกระทบมากกว่า 1 ด้าน ให้ได้รับการช่วยเหลือเพียง 1 ด้าน (ด้านพืช ด้านประมง หรือด้านปศุสัตว์) โดยให้เกษตรกรเป็นผู้ระบุว่าจะขอรับการช่วยเหลือด้านใด

(3) เป็นเกษตรกรที่มีคุณสมบัติตาม (1) และ (2) และคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน/ชุมชนรับรอง การบริหารจัดการ คณะกรรมการตรวจสอบและรับรองข้อมูลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ระดับจังหวัด และระดับกระทรวง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 กรกฎาคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ