ร่างพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday August 28, 2018 17:40 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาในประเด็นตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้รับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

3. ให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของสำนักงบประมาณ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐไปพิจารณาดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

เป็นการกำหนดให้มีกลไกและกระบวนการในการจัดระบบสุขภาพปฐมภูมิ ที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพโดยการประสานความร่วมมือเพื่อจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่มีส่วนร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยบริการทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ทั้งนี้ เป็นการดูแลสุขภาพของประชาชนตั้งแต่แรกแบบองค์รวม ผสมผสาน ต่อเนื่อง ดังนี้

1. กำหนดนิยามคำว่า “สุขภาพปฐมภูมิ” “ระบบสุขภาพปฐมภูมิ” “หน่วยบริการ” “หน่วยบริการปฐมภูมิ” “ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข” และ “คณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ”

2. กำหนดให้มีคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรรมการผู้แทนหน่วยบริการปฐมภูมิ กรรมการผู้แทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้แทนสาธารณสุขอำเภอ ผู้แทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และผู้แทนอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และให้รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการ

3. กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยให้คณะกรรมการกำกับดูแลเชิงนโยบายควบคู่ไปกับการกำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ เช่น เสนอนโยบายและแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับระบบสุขภาพปฐมภูมิต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปปฏิบัติ กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัตินี้ กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา และอุปสรรคในการปฏิบัติตามนโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าว และเสนอแนวทางต่อคณะรัฐมนตรีในการผลิตและพัฒนาแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ รวมทั้งกำหนดมาตรการ ส่งเสริม และสร้างเสริมให้ประชาชนมีศักยภาพและมีความรู้ในการจัดการสุขภาพของตนเอง นอกจากนั้น คณะกรรมการดังกล่าวยังมีหน้าที่และอำนาจออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามที่ร่างพระราชบัญญัตินี้กำหนด

4. กำหนดให้สำนักงานปลัด สธ. มีหน้าที่และอำนาจเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนกลไกต่าง ๆ ตามร่างพระราชบัญญัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เช่น จัดทำนโยบายและแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยต้องคำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ประสานงานกับหน่วยบริการปฐมภูมิ เครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยงานของรัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง เป็นศูนย์กลางฐานข้อมูลเกี่ยวกับระบบสุขภาพปฐมภูมิ จัดให้มีทะเบียนผู้รับบริการ หน่วยบริการปฐมภูมิ และเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ และพัฒนาระบบสารสนเทศสำหรับเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิ รวมทั้งส่งเสริมและสร้างเสริมให้ประชาชนมีศักยภาพและมีความรู้ในการจัดการสุขภาพของตนเอง ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิให้เพียงพอกับการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ

5. กำหนดให้มีกลไกการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ เช่น สิทธิได้รับบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เป็นธรรม มีคุณภาพ มีมาตรฐาน สิทธิได้รับการรักษาพยาบาลหรือรับบริการสาธารณสุขตามสวัสดิการหรือตามสิทธิที่บุคคลนั้นได้รับอยู่ตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ มติคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่งอื่นใด รวมทั้งกำหนดกระบวนการรับบริการสุขภาพปฐมภูมิ เช่น กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ เพื่อเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ และแจ้งให้ประชาชนทราบ และกำหนดหน้าที่ของหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น ให้บริการและข้อมูลการบริการสุขภาพปฐมภูมิและสิทธิของผู้รับบริการแก่ผู้รับบริการ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือผู้รับผิดชอบในการดูแลอย่างต่อเนื่องแก่ญาติหรือผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้รับบริการ

6. กำหนดให้มีการส่งต่อผู้รับบริการสุขภาพปฐมภูมิในกรณีที่มีความจำเป็นต้องส่งต่อผู้รับบริการเพื่อให้ไปรับการรักษาพยาบาลที่หน่วยบริการปฐมภูมิอื่น เครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือหน่วยบริการอื่น โดยให้แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวหรือคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิซึ่งดูแลผู้รับบริการดำเนินการให้มีการส่งต่อผู้รับบริการดังกล่าว

7. กำหนดให้มีการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของหน่วยบริการปฐมภูมิ และเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น ให้คณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิจัดให้มีการตรวจสอบเพื่อควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิอย่างสม่ำเสมอ โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบดังกล่าว

8. กำหนดให้มีการส่งเสริมและพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ เช่น หน่วยบริการปฐมภูมิหรือเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิอาจขอรับการสนับสนุนเพื่อการส่งเสริม และพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิหรือการส่งเสริมและสร้างเสริมให้ประชาชนมีศักยภาพและมีความรู้ในการจัดการสุขภาพของตนเองได้ในทุกมิติ จากสำนักงานปลัด สธ.

9. กำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐาน ของคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ คณะอนุกรรมการ คณะกรรมการสอบสวน หรือคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวตามสมควร

10. กำหนดบทเฉพาะกาลรองรับภายในสิบปีนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้สำนักงานปลัด สธ. จัดให้มีหน่วยบริการปฐมภูมิในสัดส่วนที่เหมาะสมกับจำนวนผู้รับบริการและพื้นที่ และให้ สธ. ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสถาบันอุดมศึกษาดำเนินการเพื่อให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขดูแลประชาชน ในสัดส่วนที่เหมาะสมต่อไป แต่หากมีเหตุจำเป็นให้คณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการขยายระยะเวลาออกไปอีกเป็นระยะเวลาตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 สิงหาคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ