ร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่..) พ.ศ. ….

ข่าวการเมือง Tuesday October 2, 2018 18:29 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของสำนักงานศาลยุติธรรม และธนาคารแห่งประเทศไทยไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป

2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

ประเด็น/รายละเอียดและเหตุผล

1. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “น้ำตาลทราย” และ “โรงงาน”
  • เพื่อให้ครอบคลุมถึงน้ำอ้อยที่จะนำไปใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ นอกเหนือจากน้ำตาลทราย
  • กำหนดให้โรงงานซึ่งผลิตน้ำตาลทรายตามประเภท วิธีการผลิต และกำลังการผลิตไม่เกินที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ไม่เป็นโรงงานภายใต้พระราชบัญญัตินี้
2. กำหนดบทนิยามใหม่คำว่า “น้ำอ้อย” และ “สมาคมโรงงาน”
  • เพื่อให้สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น ๆ ได้โดยตรงนอกเหนือจากน้ำตาลทราย
  • เพื่อรองรับการดำเนินงานของสมาคมโรงงาน ให้ตรงกับข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ
3. เพิ่มเติมให้รัฐมนตรีผู้รักษาการมีอำนาจในการกำหนดระเบียบกฎกระทรวงและประกาศ
  • เดิมรัฐมนตรีรักษาการมีอำนาจเพียงการกำหนดระเบียบเท่านั้น จึงแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้รัฐมนตรีมีอำนาจในการออกอนุบัญญัติเพิ่มขึ้นคือ กฎกระทรวง ระเบียบและประกาศ เพื่อให้เป็นไปตามร่างพระราชบัญญัตินี้
4. เพิ่มจำนวนกรรมการและแก้ไขคุณสมบัติของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายของผู้แทนทั้ง 3 ภาคส่วน
  • เพิ่มจำนวนผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เดิม 1 คน เป็น 2 คน กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) 2 คน และ อก. 2 คน รวมผู้แทนจากส่วนราชการ 6 คน จากเดิม 5 คน
  • เพิ่มผู้แทนชาวไร่อ้อยจากเดิม 9 คน เป็น 12 คน โดยมาจากสถาบันชาวไร่อ้อยที่เป็นสมาคม 9 คน สถาบันชาวไร่อ้อยที่เป็นสหกรณ์ 2 คน และสถาบันชาวไร่อ้อยที่เป็นกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย 1 คน เดิมไม่ได้กำหนดว่าต้องมาจากสถาบันใด
  • เพิ่มผู้แทนโรงงานจากเดิม 7 คน เป็น 9 คน
  • แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้แทนจากส่วนราชการจากเดิมที่ต้องไม่เป็นชาวไร่อ้อย กรรมการ ผู้จัดการ พนักงานหรือลูกจ้างของโรงงานแล้ว จะต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่เกี่ยวกับอ้อยหรือน้ำตาลทรายด้วย
  • แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้แทนชาวไร่อ้อยต้องไม่เป็นที่ปรึกษาของโรงงาน และคุณสมบัติของผู้แทนโรงงานต้องไม่เป็นชาวไร่อ้อย
5. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประชุม การเรียกประชุม และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
  • ในการประชุมกรรมการต้องมีองค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง โดยกำหนดเพิ่มเติมว่าต้องมีผู้แทนจากส่วนราชการ ผู้แทนชาวไร่อ้อย และผู้แทนโรงงาน อย่างน้อยฝ่ายละหนึ่งคนเข้าร่วมประชุม จึงจะครบเป็นองค์ประชุม
  • กำหนดเพิ่มเติมให้รองประธานกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการได้ กรณีประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ เดิมกำหนดให้ประธานกรรมการเป็นผู้เรียกประชุมเท่านั้น ทำให้คณะกรรมการคณะต่าง ๆ ไม่สามารถประชุมได้
  • กำหนดให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายหลักเท่านั้น ส่วนอำนาจเดิมในการออกระเบียบและประกาศต่าง ๆ ให้เป็นของคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการอ้อย คณะกรรมการน้ำตาลทราย และคณะกรรมการบริหารกองทุน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการชุดนั้น ๆ
6. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะ กรรมการบริหาร
  • เดิมมีกรรมการจำนวน 13 คน เพิ่มเป็น 15 คน โดยยกเลิกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเพิ่มเติมกรรมการผู้แทนโรงงานจากเดิม 4 คน เป็น 5 คน และผู้แทนชาวไร่อ้อยจากเดิม 5 คน เป็น 7 คน โดยมาจากสถาบันที่เป็นสมาคม 5 คน สถาบันที่เป็นสหกรณ์ 1 คน และสถาบันที่เป็นกลุ่มเกษตรกร 1 คน เดิมไม่ได้กำหนดว่าจะมาจากสถาบันใด และกำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นเลขานุการคณะกรรมการบริหาร
  • เพิ่มเติมให้คณะกรรมการบริหารมีหน้าที่ในการกำหนดระเบียบและประกาศต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเดิมเป็นอำนาจของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
7. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และแก้ไขที่ตั้งและที่มาของเงินกองทุนฯ รวมทั้งระบบการตรวจสอบบัญชี
  • เดิมมีกรรมการจำนวน 12 คน เพิ่มเป็น 15 คน โดยเพิ่มผู้แทนโรงงานจากเดิม 3 คน เป็น 4 คน และผู้แทนชาวไร่อ้อยจากเดิม 3 คน เป็น 5 คน โดยมาจากสถาบันที่เป็นสมาคม 3 คน สถาบันที่เป็นสหกรณ์ 1 คน และสถาบันที่เป็นกลุ่มเกษตรกร 1 คน เดิมไม่ได้กำหนดว่าจะมาจากสถาบันใด
  • แก้ไขที่ตั้งของกองทุนฯ เดิมตั้งอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย อก. เป็น กรุงเทพมหานคร หรือปริมณฑล
  • แก้ไขที่มาของเงินกองทุนฯ โดยตัดเงินอุดหนุนจากรัฐบาลออก เพื่อให้เป็นไปตามกรอบข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ
  • เพิ่มเติมการจัดทำระบบบัญชีที่เหมาะสม โดยแสดงฐานะทางการเงิน และผลการดำเนินงาน และการตรวจสอบบัญชี เพื่อให้ถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป
8. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอ้อย
  • เดิมมีกรรมการจำนวน 14 คน เพิ่มเป็น 17 คน โดยเพิ่มผู้แทนโรงงานจากเดิม 4 คน เป็น 5 คน และผู้แทนชาวไร่อ้อยจากเดิม 6 คน เป็น 8 คน โดยมาจากสถาบันที่เป็นสมาคม 6 คน สถาบันที่เป็นสหกรณ์ 1 คน และสถาบันที่เป็นกลุ่มเกษตรกร 1 คน
  • แก้ไขให้คณะกรรมการอ้อยมีอำนาจหน้าที่เพิ่มเติมจากที่ถ่ายโอนมาจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เช่น กำหนดท้องที่ที่เหมาะสมสำหรับส่งเสริมการปลูกอ้อย กำหนดพันธุ์อ้อยที่เหมาะสม กำหนดปริมาณอ้อยที่ให้ชาวไร่อ้อยผลิต รวมทั้งกำหนดระเบียบต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับอ้อย
9. กำหนดหลักเกณฑ์และหน้าที่ของชาวไร่อ้อย หัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย และสถาบันชาวไร่อ้อย
  • กำหนดให้ชาวไร่อ้อยเป็นสมาชิกสถาบันชาวไร่อ้อยที่เป็นสมาคม สหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย ได้เพียงแห่งเดียว
  • เพิ่มเติมหน้าที่ของหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย โดยให้หัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยต้องนำส่งสำเนาสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างชาวไร่อ้อยที่อยู่ในสังกัดของตนกับโรงงาน ให้กับคณะกรรมการอ้อย และนำส่งเงินตามสิทธิให้แก่ชาวไร่อ้อยที่อยู่ในสังกัดตน
  • แก้ไขเพิ่มเติมให้มีการจดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อยตามระเบียบที่คณะกรรมการอ้อยกำหนด และกำหนดหน้าที่ของสถาบันชาวไร่อ้อย เดิมไม่ต้องจดทะเบียน
10. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการน้ำตาลทราย
  • แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการน้ำตาลทรายในส่วนของผู้แทนชาวไร่อ้อย 5 คน โดยกำหนดให้มาจากสถาบันที่เป็นสมาคม 3 คน สถาบันที่เป็นสหกรณ์ 1 คน และสถาบันที่เป็นกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย 1 คน และกำหนดเพิ่มเติมให้เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นเลขานุการคณะกรรมการน้ำตาลทราย
  • แก้ไขให้คณะกรรมการน้ำตาลทรายมีอำนาจหน้าที่เพิ่มเติมจากที่ถ่ายโอนมาจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เช่น ควบคุมดูแลในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งออกน้ำตาลทราย จัดให้มีการนำเข้าน้ำตาลทรายกรณีเกิดขาดแคลน รวมทั้งกำหนดระเบียบต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับน้ำตาลทราย
11. การนำเข้าน้ำตาลทราย
  • เดิมห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าน้ำตาลทราย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย แก้ไขใหม่เป็นให้นำเข้าน้ำตาลทรายได้แต่จะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการฯ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดขององค์กรการค้าโลก
12. แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น
  • แก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และไม่เกินร้อยละ 95 ของประมาณการรายได้ที่คำนวณได้ เพื่อไม่ให้ราคาอ้อยขั้นต้นสูงเกินกว่าประมาณการรายได้ที่คำนวณได้และราคาอ้อยขั้นสุดท้าย
  • แก้ไขผู้ให้ความเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและราคาอ้อยขั้นสุดท้ายจากเดิมคณะรัฐมนตรี เป็น รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
13. แก้ไขเพิ่มเติมกรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น
  • กรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น เดิม ให้กองทุนฯ จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้แก่โรงงาน โดยชาวไร่อ้อยไม่ต้องส่งคืนค่าอ้อยที่ได้รับเกิน แก้ไขเป็นให้นำส่วนต่างไปหักออกจากราคาอ้อยขั้นต้นหรืออ้อยขั้นสุดท้ายในฤดูผลิตปีถัดไป ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อแก้ไขเรื่องการอุดหนุนเกษตรกรของกองทุน
14. แก้ไขการกำหนดให้โรงงานนำเงินเข้ากองทุนฯ
  • เดิมกำหนดให้โรงงานนำเงินเข้ากองทุนฯ เท่าจำนวนผลต่างระหว่างรายได้สุทธิกับราคาอ้อยขั้นสุดท้าย แก้ไขเป็น ให้โรงงานนำเงินส่งเข้ากองทุนฯ ร้อยละสองของรายได้สุทธิ ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
15. แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษ
  • ปรับปรุงบทกำหนดโทษให้มีความเหมาะสม โดยแยกอัตราโทษของชาวไร่อ้อยและหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยออกจากกัน และเพิ่มอัตราโทษเฉพาะโทษปรับจากเดิมเพิ่มขึ้นอีกสี่เท่า แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับความรับผิดของผู้แทนนิติบุคคล
  • กำหนดเพิ่มเติมให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 ตุลาคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ