การรับรองร่างปฏิญญารัฐมนตรีหัวข้อ “Navigating policy with data to leave no one behind” สำหรับการประชุมคณะกรรมการด้านสถิติภายใต้เอสแคป สมัยที่ 6

ข่าวการเมือง Tuesday October 16, 2018 16:27 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การรับรองร่างปฏิญญารัฐมนตรีหัวข้อ “Navigating policy with data to leave no one behind” สำหรับการประชุมคณะกรรมการด้านสถิติภายใต้เอสแคป สมัยที่ 6

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญารัฐมนตรีหัวข้อ “Navigating policy with data to leave no one behind” สำหรับการประชุมคณะกรรมการด้านสถิติภายใต้เอสแคป สมัยที่ 6 ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญ และไม่ขัดต่อหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ ดศ. ดำเนินการได้ โดยให้เสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ได้รับจากการปรับปรุงดังกล่าว

สาระสำคัญของร่างปฏิญญารัฐมนตรีหัวข้อ “Navigating policy with data to leave no one behind” เป็นบันทึกเจตนารมณ์ของรัฐมนตรี และตัวแทนของสมาชิกและสมาชิกสมทบของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก ณ ที่ประชุมคณะกรรมการด้านสถิติภายใต้เอสแคป สมัยที่ 6 ระหว่างวันที่ 16 – 19 ตุลาคม 2561 ณ กรุงเทพมหานคร โดยร่างปฏิญญาฯ เป็นเอกสารด้านนโยบายสำหรับดำเนินการตามวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 เพื่อร่วมกันติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก สาระสำคัญของร่างปฏิญญาฯ มีดังนี้

1. ข้อมูลสถิติที่เชื่อได้และทันต่อเวลา เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ต่อการตัดสินใจ ต่อนโยบายและต่อหลักการพื้นฐานของความโปร่งใสและการตรวจสอบได้

2. สถิติทางการ (Official Statistics) เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในระบบสารสนเทศของสังคมประชาธิปไตย ที่ให้บริการแก่รัฐบาล เศรษฐกิจ และสาธารณชน

3. การปฏิรูปการผลิตและการใช้ข้อมูลสถิติทางการ จำเป็นต่อความสำเร็จในการดำเนินการตามวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (the 2030 Agenda for Sustainable Development)

4. การมีสถิติทางการและสถิติทางการถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการวิเคราะห์ที่มีประสิทธิผลและการตัดสินใจนโยบายที่โปร่งใส

5. ความพยายามของประชาคมสถิติของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ในการพัฒนาสถิติทางการ เพื่อติดตามวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ผ่านวิสัยทัศน์ว่า ภายใน ค.ศ. 2030 ระบบสถิติแห่งชาติจะได้รับการพัฒนาและเสริมสร้างให้สามารถมีบทบาทนำ สร้างผลผลิตและบริการอย่างมีนวัตกรรม เชื่อถือได้และทันต่อเวลา เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสถิติที่เร่งด่วนและเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

6. ประชาคมสถิติของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะปรับปรุงกระบวนงานทางสถิติเสริมสร้างทักษะใหม่ ๆ และพัฒนาสถิติ ให้เกิดการวิเคราะห์อย่างบูรณาการ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030

7. การดำเนินการเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ อยู่เหนือขีดความสามารถของระบบสถิติแห่งชาติ และต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานทุกหน่วยงานในรัฐบาล ในการยึดหลักการการเชื่อมโยงนโยบายกับข้อมูล การจัดสรรงบประมาณให้กับระบบสถิติแห่งชาติและการพัฒนาให้หน่วยงานสถิติในชาติสามารถทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการเป็นหนึ่งเดียว

8. การดำเนินการตามวิสัยทัศน์ร่วมอย่างบูรณาการและร่วมแรง ร่วมใจ ระหว่างผู้กำหนดนโยบายและผู้ผลิตสถิติ ผ่านข้อปฏิบัติการในระดับชาติ ดังนี้

8.1 จะมีการบูรณการการพัฒนาด้านสถิติ เข้าไปสู่นโยบายและแผนการพัฒนาระดับชาติ โดยมีการกำหนดเป้าหมายสำหรับการพัฒนาด้านสถิติ

8.2 จะมีการเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนากรอบการติดตามระดับชาติ เพื่อการสร้างหลักฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนานโยบายและการติดตาม ตามความเหมาะสม

8.3 จะมีการจัดตั้งหน่วยที่ปรึกษาระดับสูงในระบบสถิติแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการกำหนดความต้องการและความสนใจของผู้กำหนดนโยบายและผู้ใช้ข้อมูลอื่น ๆ

8.4 จะกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบ และกลไกการประสานงานของระบบสถิติแห่งชาติ ในส่วนที่จำเป็น

8.5 ให้อำนาจแก่หัวหน้าสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในการรับบทบาทนำในการประสานงานของระบบสถิติแห่งชาติ

8.6 จะพัฒนากฎระเบียบและกลไกเชิงสถาบันที่จำเป็น ตามความเหมาะสม ในการทำให้ระบบสถิติแห่งชาติสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างเต็มที่

8.7 จะพัฒนาการสื่อสารข้อมูลสถิติ และเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านสถิติ เพื่ออำนวยการให้เกิดการนำข้อมูลไปวิเคราะห์อย่างแม่นยำและเกิดผล ในกระบวนการจัดทำนโยบายและการบริหารจัดการภาครัฐที่โปร่งใสเพื่อนำไปสู่ความมุ่งหมายที่จะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

8.8 จะทบทวนนโยบาย ยุทธศาสตร์ระดับชาติ และกฎระเบียบต่าง ๆ ตามความเหมาะสม

9. ร้องขอให้เครือข่ายหน่วยงานด้านการพัฒนา สนับสนุนความช่วยเหลือด้านเทคนิคและงบประมาณ

10.ร้องขอให้เลขาธิการ (ของเอสแคป)

10.1 สนับสนุนประเทศสมาชิกในการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ให้เกิดขึ้นอย่างบูรณาการและเป็นไปตามแผนงานของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ในการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน

10.2 ร่วมมือกับหน่วยงานด้านการพัฒนา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อทำให้การดำเนินการตามปฏิญญานี้และวิสัยทัศน์ร่วม มีความก้าวหน้าต่อเนื่อง มีการประสานงานและมีประสิทธิภาพ

10.3 จัดทำภาพรวมของความก้าวหน้าในการดำเนินการตามปฏิญญาฯ ทุก ๆ สองปี เพื่อเข้าสู่การทบทวนโดยคณะกรรมการสถิติของเอสแคป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 ตุลาคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ