ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

ข่าวการเมือง Monday November 26, 2018 16:56 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาในประเด็นตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป และให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. ....

1.1 ปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. 2542

1.2 กำหนดบทนิยาม คำว่า “ข้อบัญญัติท้องถิ่น” หมายความว่า กฎซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจของสภาท้องถิ่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น แต่ไม่รวมถึงข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี และข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และคำว่า “ผู้ริเริ่ม” หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ริเริ่มดำเนินการจัดให้มีการเข้าชื่อเสนอร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นต่อประธานสภาท้องถิ่น

1.3 กำหนดให้ผู้มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้พิจารณาออกข้อบัญญัติ ต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นอยู่ในวันที่ยื่นคำร้อง และการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นต้องมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น สำหรับการเสนอข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครรวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 คน

1.4 กำหนดให้มีผู้ริเริ่มซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน เพื่อดำเนินการจัดให้มีการรวบรวมลายมือชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

1.5 กำหนดให้คำร้องขอพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นประกอบด้วย ชื่อ ที่อยู่ และลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อทุกคน พร้อมทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน เนื้อหาสาระของร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ประสงค์จะออกเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นต้น

1.6 กำหนดให้ประธานสภาท้องถิ่นเมื่อได้รับคำร้องขอให้ส่งคำร้องให้ผู้บริหารท้องถิ่นดำเนินการยกร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นและเสนอต่อสภาท้องถิ่นโดยเร็ว ภายในสมัยประชุมนั้น หรือสมัยประชุมถัดไป

2. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

2.1 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542

2.2 กำหนดบทนิยาม คำว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งมิได้เสียสิทธิในการเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น คำว่า “ผู้มีสิทธิเข้าชื่อ” หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเข้าชื่อเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และคำว่า “ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง” หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิก สภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น

2.3 กำหนดให้การเข้าชื่อเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้จัดทำเป็นคำร้องพร้อมทั้งบัญชีรายชื่อ โดยต้องมีจำนวนดังนี้

(1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 100,000 คน ต้องมีผู้มีสิทธิเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่น้อยกว่า 5,000 คน สุดแต่จำนวนใดจะน้อยกว่า

(2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 100,000 คน แต่ไม่เกิน 1,000,000 คน ต้องมีผู้มีสิทธิเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 10,000 คน ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น

(3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 1,000,000 คน ต้องมีผู้มีสิทธิเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 20,000 คน ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น

2.4 กำหนดคำร้องขอให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ประกอบด้วย ชื่อ ที่อยู่ และลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อทุกคน พร้อมทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน รายละเอียดและพฤติการณ์ของสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นที่จะให้ลงคะแนนเสียงถอดถอน เป็นต้น

2.5 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเกี่ยวกับการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นตามอำนาจที่บัญญัติไว้

2.6 กำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่น หรือข่มขู่เพื่อให้บุคคลใดกระทำการ เช่น เข้าชื่อหรือมิให้เข้าชื่อเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นรวมทั้งผู้เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเพื่อการดังกล่าว เป็นต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ