พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท)

ข่าวการเมือง Monday November 26, 2018 17:18 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการพื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ตามนัยมติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงบประมาณไปดำเนินการต่อไปด้วย ทั้งนี้ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย

2. ในการดำเนินการตามกรอบมาตรการฯ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงให้ราษฎรกลุ่มเป้าหมายทราบเกี่ยวกับเจตนารมณ์ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการจัดสรรที่ดินของแต่ละกลุ่มพื้นที่ให้ถูกต้องและชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและสิทธิของผู้ได้รับจัดสรรที่ดิน

3. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขการบุกรุกพื้นที่ป่าให้ชัดเจนและดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติมอีก

สาระสำคัญของเรื่อง

พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่ยังไม่ได้นำมาดำเนินการจัดที่ดินทำกินฯ เฉพาะในส่วนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ก่อนแล้วให้ครอบคลุมปัญหาทั้งหมดตามมติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2561 ซึ่งกรอบมาตรการฯ จำแนกเป็น 5 กลุ่มสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

พื้นที่เป้าหมาย / กรอบมาตรการแก้ไขปัญหา

ป่าสงวนแห่งชาติ

กลุ่มที่ 1 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้นที่ 3-5 ก่อน มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541

อนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ อยู่อาศัย/ทำกิน แบบแปลงรวม (ให้สิทธิทำกิน มิให้เอกสารสิทธิ)

กลุ่มที่ 2 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3-5 หลังมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษา ความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 66/2567 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557

อนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ อยู่อาศัย/ทำกิน แบบแปลงรวม (ให้สิทธิทำกิน มิให้เอกสารสิทธิ) โดยอยู่ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่กำหนดร่วมกันในลักษณะที่เกื้อกูลต่อการอนุรักษ์ เช่น ให้ปลูกป่าเพื่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ และอื่น ๆ ควบคู่ไปกับให้ใช้ประโยชน์อยู่อาศัยและทำกิน

กลุ่มที่ 3

(1) ชุมชนในเขตป่าสงวน แห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1-2 ก่อนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541

กำหนดให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำพื้นที่โครงการเพื่อควบคุมการใช้ทรัพยากรและที่ดินและดำเนินการจัดระเบียบการใช้ที่ดินอยู่อาศัย/ทำกินเป็นหลักแหล่งอย่างเหมาะสม (ออกแบบรูปแบบในการอยู่อาศัยร่วมกับชุมชนและราษฎร) เช่น ฟื้นฟูสภาพป่าแบบมีส่วนร่วม ส่งเสริมราษฎรปลูกป่า 3 อย่าง ร้อยละ 20 ของพื้นที่

(2) ชุมชนในเขตป่าสงวน แห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1-2 หลังมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และต้องปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557

ถือเป็นพื้นที่ที่ต้องทำการฟื้นฟูสภาพป่า ราษฎรในพื้นที่นี้ถือว่าบุกรุกใหม่และต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยกรมป่าไม้มอบหมายเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่และดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่าร่วมกับราษฎร ส่วนราษฎรที่เคยใช้ที่ดินดังกล่าวและประสงค์จะเข้าร่วมดำเนินการ จะจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับกรมป่าไม้โดยมีหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาป่าและจะขอรับผลผลิตจากไม้ที่ปลูกและใช้ประโยชน์ที่ดินในระหว่างแถวของต้นไม้ได้

ป่าอนุรักษ์

กลุ่มที่ 4 ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ทั้ง ก่อนและหลังมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541

ชุมชนที่จะได้รับการพิจารณาต้องเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่เดิม มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ทำกินเป็นที่ยอมรับร่วมกันและให้สิทธิทำกินมิให้เอกสารสิทธิ แนวทางที่ดำเนินการ คือ 1) การสำรวจการครอบครองที่ดินและ 2) การตรวจสอบและการบริหารจัดการพื้นที่โดยจัดระเบียบพื้นที่กรณีสำรวจแล้วเป็นพื้นที่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศ นอกนั้นให้พิจารณาตามความจำเป็นเพื่อการดำรงชีพโดยส่งข้อมูลให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาอนุญาตตามกฎหมาย

ป่าชายเลน

กลุ่มที่ 5 ชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน

  • พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และพื้นที่เกษตรกรรม
  • พื้นที่เมืองและสิ่งก่อสร้างถาวรให้กับราษฎรที่ครอบครองมาก่อนคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ราษฎรที่คุณสมบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ คทช. และไม่รวมราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ทวงคืนผืนป่าที่คดียังไม่สิ้นสุด

ดำเนินการสำรวจ ตรวจสอบการครอบครองพื้นที่ จัดทำข้อมูลจำแนกตามรูปแบบการใช้ประโยชน์ จัดทำแผนการบริหารจัดการและโครงการเพื่อการอนุญาต จากนั้นจะเสนอขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนได้ และให้กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ดำเนินการอนุญาตตามกฎหมายใช้พื้นที่ต่อไป

ทั้งนี้ ในการดำเนินการตามกรอบมาตรการดังกล่าวแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยผู้มีอำนาจตามที่กฎหมายบทบัญญัติจะอนุญาตการเข้าใช้ประโยชน์หรือการดำเนินการในกลุ่มพื้นที่เป้าหมายต่าง ๆ ข้างต้นต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ