ขอความเห็นชอบการดำเนินงานโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล ช่วงที่ 3 ระยะ 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2566)

ข่าวการเมือง Tuesday January 29, 2019 19:27 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบโครงการต่อเนื่องจากเดิม “โครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล” โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล” ดำเนินการในช่วงที่ 3 ระยะ 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2566)

2. อนุมัติกรอบแผนการขยายศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล และกรอบอัตรากำลังการจ้างครูอัตราจ้าง 99 ศูนย์ 77 จังหวัด 297 คน

สำหรับกรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 297,148,480 บาท นั้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้ตั้งงบประมาณรองรับไว้แล้ว จำนวน 28,031,500 บาท ซึ่งหากไม่เพียงพอ ขอให้กระทรวงศึกษาธิการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อดำเนินการภายใต้มาตรการด้านงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท ตามนัยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ในโอกาสแรกด้วย สำหรับภาระค่าใช้จ่ายในปีต่อ ๆ ไป ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามนัยพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. โครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล ช่วงที่ 2 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557-2561) ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนฯ จำนวน 53 ศูนย์การเรียน ใน 45 จังหวัด เข้าร่วมเป็นศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวม 48 ศูนย์การเรียน และมีเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังได้รับโอกาสทางการศึกษาเฉลี่ยปีละ 37,558 คน เดือนละ 3,130 คน ในจำนวนนี้สามารถเข้ารับการศึกษาในระบบ/เรียนในสถาบันศึกษาเดิมได้ร้อยละ 77.6

2. เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง กระทรวงศึกษาธิการ จึงเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการดำเนินงานโครงการต่อเนื่องในช่วงที่ 3 ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2562 – 2566) โดยมีเป้าหมายให้เด็กที่มีความบกพร่องทางสุขภาพในวัยเรียนที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องในโรงพยาบาลและเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาทั่วประเทศ ได้รับบริการจากศูนย์การเรียนฯ จำนวนไม่ต่ำกว่า 50,000 คนต่อปี โดยจะจัดตั้งศูนย์การเรียนฯ ทั่วประเทศให้ครบทุกจังหวัด จำนวน 99 ศูนย์การเรียน และมีครูผู้สอน (อัตราจ้าง) รวมทั้งสิ้น 297 คน รวมทั้งจัดหาวัสดุ สื่อ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ในการดำเนินงานที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้เห็นควรให้มีการเปลี่ยนชื่อเดิม “โครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล” เป็น “โครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล” จากการดำเนินโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาลดังกล่าว จะทำให้เด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลได้รับบริการทางการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึงในรูปแบบที่เหมาะสม ไม่เกิดความท้อแท้ และไม่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ รวมทั้งเป็นการประหยัดงบประมาณของรัฐอีกทางหนึ่ง (เด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลไม่ต้องเรียนซ้ำชั้น)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มกราคม 2562--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ