การปรับกรอบการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ (โครงการบ้านล้านหลัง)

ข่าวการเมือง Tuesday March 12, 2019 18:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้

1. เห็นชอบการชดเชยส่วนต่างระหว่างรายได้ดอกเบี้ยรับตามแผนรัฐวิสาหกิจของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กับรายได้ดอกเบี้ยรับจากโครงการจากรัฐบาล รวม 6 ปี (ปี 2562 - 2567) เพิ่มเติม จำนวน 789.66 ล้านบาท และยกเว้นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และสำหรับค่าใช้จ่ายที่ ธอส. จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เพื่อชดเชยส่วน ต่างระหว่างรายได้ดอกเบี้ยรับตามแผนรัฐวิสาหกิจของ ธอส. กับรายได้ดอกเบี้ยรับจากโครงการฯ เป็นระยะเวลา 6 ปี วงเงินรวม 789.66 ล้านบาท ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

2. ให้ ธอส. ในฐานะหน่วยงานของรัฐผู้ดำเนินโครงการจัดทำประมาณการต้นทุนทางการเงินและการบริหารจัดการที่รัฐจะต้องรับภาระทั้งหมดและแจ้งให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐและ กค. ทราบ และเมื่อสิ้นสุดโครงการแล้ว ธอส. จะเสนอรายงานผลการดำเนินการและผลสัมฤทธิ์ต่อรัฐมนตรีว่า การกระทรวงการคลังเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. กระทรวงการคลังได้รายงานผลการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ(โครงการบ้านล้านหลัง) ซึ่งหลังจากที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดให้ประชาชนจองสิทธิสินเชื่อตามโครงการดังกล่าว รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท พบว่า มีประชาชนให้ความสนใจยื่นจองสิทธิสินเชื่อ รวมทั้งสิ้น จำนวน 127,102 ล้านบาท ซึ่งสูงเกินกว่ากรอบวงเงินสินเชื่อที่ ธอส. ได้กำหนดไว้จำนวนมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าโครงการบ้านล้านหลังสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการมีบ้านเป็นของตนเอง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน มีผู้ยื่นจองสิทธิ จำนวน 113,064 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ากรอบวงเงินที่ ธอส. กำหนดไว้ จำนวน 93,064 ล้านบาท (ธอส. กำหนดกรอบวงเงินไว้จำนวน 20,000 ล้านบาท) ในขณะที่ยอดจองสินเชื่อสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่อเดือนต่อคนเกิน 25,000 บาท มีผู้ยื่นจองสิทธิเพียง จำนวน 14,038 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่ากรอบวงเงินที่ ธอส. กำหนดไว้ จำนวน 15,962 ล้านบาท (กำหนดกรอบวงเงินไว้ จำนวน 30,000 ล้านบาท) ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยและได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองตามวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าว ธอส.จึงได้ปรับกรอบการดำเนินโครงการบ้านล้านหลัง ซึ่งคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ในครั้งนี้กระทรวงการคลังจึงนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบปรับกรอบการดำเนินโครงการบ้านล้านหลังนี้ ดังนี้

หลักเกณฑ์และเงื่อนไข(เฉพาะในส่วนที่ขอปรับปรุง)

1) กรอบวงเงินกู้

กลุ่มรายได้ต่อเดือนต่อคนไม่เกิน 25,000 บาท

กรอบการดำเนินโครงการฯ เดิม (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561)

กรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท

กรอบการดำเนินโครงการฯ ที่ขอปรับปรุงใหม่

กรอบวงเงิน 40,000 ล้านบาท

กลุ่มรายได้ต่อเดือนต่อคนเกิน 25,000 บาท

กรอบการดำเนินโครงการฯ เดิม (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561)

กรอบวงเงิน 30,000 ล้านบาท

กรอบการดำเนินโครงการฯ ที่ขอปรับปรุงใหม่

กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท

2) กรอบระยะเวลาดำเนินโครงการ

กรอบการดำเนินโครงการฯ เดิม (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561)

สิ้นสุดการทำนิติกรรมภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2562

กรอบการดำเนินโครงการฯ ที่ขอปรับปรุงใหม่

สิ้นสุดการทำนิติกรรม เมื่อ ธอส. ให้สินเชื่อเต็มตามกรอบวงเงิน (50,000 ล้านบาท) ทั้งนี้ ไม่เกินวันที่ 30 ธันวาคม 2564

หมายเหตุ : การปรับกรอบการดำเนินโครงการบ้านล้านหลังในครั้งนี้ ยังอยู่ในกรอบเดิมที่ 50,000 ล้านบาท และในส่วนของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่น ๆ ธอส. ยังคงใช้ตามเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเห็นชอบในหลักการไว้เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561

2. จากการปรับกรอบวงเงินกู้ตามข้อ 1 โดยเพิ่มวงเงินสินเชื่อของโครงการสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน นั้น ส่งผลให้ ธอส. จะสูญเสียรายได้ดอกเบี้ยรับมากขึ้นเนื่องจาก ธอส. ต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ต่อปี คงที่เป็นระยะเวลา 5 ปี สำหรับกลุ่มผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาท ที่มีจำนวนมากขึ้น ดังนั้น ในครั้งนี้ กค. จึงจำเป็นต้องขอรับการชดเชยส่วนต่างระหว่างรายได้ดอกเบี้ยรับตามแผนรัฐวิสาหกิจของ ธอส.กับรายได้ดอกเบี้ยรับจากโครงการจากรัฐบาล รวม 6 ปี (ปี 2562 - 2567) เพิ่มเติมอีก จำนวน 789.66 ล้านบาท จากเดิมที่ได้เคยเสนอขอรับการชดเชยดังกล่าวมาแล้วจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 จำนวน 3,876.65 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินที่ ธอส. ขอรับการชดเชยทั้งสิ้น จำนวน 4,666.31 ล้านบาท ดังนี้

ปีงบประมาณ รายได้ดอกเบี้ยรับที่ลดลงที่เคยเสนอขอ (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561)

             2562                    209.18
             2563                    547.77
             2564                    688.90
             2565                    876.44
             2566                    890.89
             2567                    663.47
             รวม                   3,876.65

ปีงบประมาณ รายได้ดอกเบี้ยรับที่ลดลงที่จะขอรับชดเชยเพิ่มเติมในครั้งนี้

             2562                         -
             2563                         -
             2564                         -
             2565                    325.25
             2566                    307.97
             2567                    156.44
             รวม                     789.66

             ปีงบประมาณ              รวมทั้งสิ้น
             2562                    209.18
             2563                    547.77
             2564                     688.9
             2565                  1,201.69
             2566                  1,198.86
             2567                    819.91
             รวม                   4,666.31

หมายเหตุ : 1. ประมาณการผลกระทบตั้งแต่ปี 2562- 2567 เนื่องจากลูกค้าทยอยทำนิติกรรมตั้งแต่ปี 2562 จะครบกำหนด 5 ปี ที่ได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษในปี 2567 วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท

2. รายได้ดอกเบี้ยรับที่ลดลงที่จะขอรับชดเชยเพิ่มเติม จำนวน 789.66 ล้านบาท คำนวณจากส่วนที่เพิ่มขึ้นของผลต่างของรายได้ดอกเบี้ยรับตามแผนรัฐวิสาหกิจของ ธอส. กับรายได้ดอกเบี้ยรับจากโครงการจากการ

ปรับสัดส่วนวงเงินของกลุ่มผู้มีรายได้ต่อเดือนต่อคนไม่เกิน 25,000 บาท กับกลุ่มผู้มีรายได้ต่อเดือนต่อคนเกิน

25,000 บาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มีนาคม 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ