การเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก

ข่าวการเมือง Tuesday April 9, 2019 17:08 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมเสนอดังนี้

1. เห็นชอบเอกสารนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพ ภายใต้ชื่อ The Ancient Town of Si Thep เพื่อบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก

2. เห็นชอบเอกสารนำเสนอกลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด ภายใต้ชื่อ Ensemble of Phanom Rung, Muang Tam and Plai Bat Sanctuaries เพื่อบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก

3. เห็นชอบให้ประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกลงนามในหนังสือถึงศูนย์มรดกโลกเพื่อนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพ และกลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด เพื่อบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก

4. รับทราบการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม และแหล่งมรดกทางธรรมชาติ เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

สาระสำคัญของการเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมทั้งสองแหล่งเพื่อบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก สรุปได้ ดังนี้

1. เมืองโบราณศรีเทพ นำเสนอต่อศูนย์มรดกโลกในชื่อ The Ancient Town of Si Thep ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ดำเนินการจัดทำเอกสารการนำเสนอโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเมืองที่มี คูเมืองกำแพงเมืองล้อมรอบ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย เมืองในและเมืองนอก มีพื้นที่ประมาณ 4.7 ตารางกิโลเมตร อยู่ในเขตพื้นที่รอยต่อทางวัฒนธรรมสำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ “แอ่งวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำลพบุรี – ป่าสัก” และเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน กับ “แอ่งอารยธรรมอีสาน” ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่าย การแลกเปลี่ยนสินค้าและเส้นทางการค้าระหว่างพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มี ความสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องจนถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ ปรากฏหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึง การติดต่อสัมพันธ์ทางการค้าในระหว่างภูมิภาคระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับ ชุมชนภายนอกโดยเฉพาะอินเดียว่าเป็นกลุ่มแรก ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับอิทธิพลจากการขยายวัฒนธรรมของอินเดีย อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม และมีพัฒนาการขึ้นเป็นบ้านเมืองที่มีความสำคัญโดดเด่นในสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ด้าน วัฒนธรรมเมืองโบราณศรีเทพตั้งอยู่ในเขตพื้นที่รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาแบบ ทวารวดีจากภาคกลางของประเทศไทย และวัฒนธรรมเขมรสมัยก่อนเมืองพระนครที่เกี่ยวเนื่องกับ ศาสนาฮินดูและ พุทธศาสนาแบบมหายานจึงมีบทบาทสำคัญทั้งการรับและส่งผ่านวัฒนธรรมดังกล่าว และผสมผสานวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องเข้าด้วยกัน หรือส่งผ่านไปยังบ้านเมืองอื่นต่อไป และมีการสร้างสรรค์ผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานศิลปกรรมเนื่องในศาสนา ซึ่งมี เอกลักษณ์เฉพาะตนแตกต่างไปจากงานศิลปกรรมร่วมสมัย แสดงออกถึง ภูมิปัญญา ความรู้ และความเชี่ยวชาญในฝีมือช่างที่พัฒนาขึ้นจนมีรูปแบบเฉพาะของตนเองโดยเฉพาะงานประติมากรรมนี้ ศาสตราจารย์ ซอง บวสเซลิเยร์ (Jean Boisselier) เรียกว่า “สกุลช่างศรีเทพ” โดยนำเสนอเพื่อ ขอบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลกด้วยหลักเกณฑ์คุณค่า ความโดดเด่นอันเป็นสากล จำนวน 2 เกณฑ์ ได้แก่

(1) หลักเกณฑ์ข้อที่ 2 เมืองโบราณสำคัญในเส้นทางเครือข่ายทางการค้าและวัฒนธรรมสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แสดงออกถึงภูมิปัญญาในการเลือกสรรชัยภูมิที่ตั้งอันเป็นจุดเชื่อมโยงผสมผสานการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนสินค้าภายในและระหว่างภูมิภาค ที่มีพัฒนามาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ทวารวดี และวัฒนธรรมเขมรโบราณ

(2) หลักเกณฑ์ข้อที่ 3 เป็นแหล่งวัฒนธรรมที่มีความสำคัญโดดเด่น ในพื้นที่ศูนย์กลางภูมิภาคตอนในของประเทศไทย แสดงถึงภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์และผสมผสานงานศิลปกรรมทางพุทธศาสนาเถรวาท มหายาน และศาสนาฮินดู จนมีเอกลักษณ์รูปแบบเฉพาะสกุลช่างของตนเอง

ทั้งนี้ ได้มีการเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันและโบราณสถานต่าง ๆ ได้แก่ ศาสนสถานมิเซิน ซึ่งเป็นกลุ่มศาสนสถานในภาคกลางของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม กลุ่มเมืองโบราณ ปยุ (Pyu Ancient Cities, Myanmar) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และแหล่งโบราณคดีสมโบร์ไพรกุก ราชอาณาจักรกัมพูชา

2. กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด นำเสนอต่อศูนย์มรดกโลกในชื่อ Ensemble of Phanom Rung, Muang Tam and Plai Bat Sanctuaries ดำเนินการจัดทำเอกสาร การนำเสนอโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ประกอบด้วยโบราณสถาน 3 แห่ง สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

(1) ปราสาทพนมรุ้ง หรือวนัมรุง เป็นปราสาทหินทรายสีชมพู ตั้งอยู่บนยอดเขาใกล้กับปล่องของภูเขาไฟเก่าที่ดับแล้ว ในแนวเทือกเขาพนมดงรัก อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะหนึ่งเดียวในโลก ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างหลายสมัยที่สามารถกำหนดอายุได้จากรูปแบบศิลปกรรมและศิลาจารึก มีวัตถุประสงค์การสร้างเพื่อเป็นเทวาลัยของพระศิวะ ลัทธิไศวนิกาย เสมือนเป็นที่ประทับบนยอดเขาไกรลาศ องค์ประกอบของสิ่งก่อสร้างถูกออกแบบให้วางตามแกนทิศ เริ่มจากชั้นฐานล่างสุดพุ่งขึ้นสู่จุดศูนย์กลาง เบื้องบนคือปราสาทประธาน ปราสาทประธานและซุ้มโคปุระของกำแพงแก้วและระเบียงคตถูกกำหนดให้อยู่ในตำแหน่งที่สมมาตรตรงกันทั้งสี่ทิศ รูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของปราสาทประธานแสดงให้เห็นถึงทั้งความแข็งแกร่งของโครงสร้างอาคารที่มีลักษณะการก่อเรียงซ้อนกันขึ้นไปโดยใช้น้ำหนักหินกดทับกันเอง มีการก่อหินเหลื่อมจนจรดกันตรงกลางเกิดเป็นวงโค้งหลังคา และความละเอียดประณีตจากลวดลายจำหลักภาพ เล่าเรื่องราวรามายณะและมหาภารตะที่ปรากฏบนทับหลังและหน้าบันลักษณะเด่นเฉพาะที่ไม่เหมือนใครในการออกแบบศาสนสถาน โดยสามารถดึงประโยชน์จากชัยภูมิที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันเป็นยอดเขามาประกอบเข้ากับคติทางศาสนา ด้วยภูมิปัญญาในด้านสถาปัตยกรรมและดาราศาสตร์ ในการกำหนดวางช่องประตูให้ตั้งตรงกันจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกรวม 15 ช่องประตู เพื่อให้เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้นตรงช่องประตูส่องกระทบศิวลึงค์ที่ตั้งเป็นประธานอยู่ในห้องกลางของปราสาท จำนวน 4 ครั้ง ใน 1 ปี คือพระอาทิตย์ขึ้นตรงช่องประตู 2 ครั้งในเดือนเมษายนและกันยายน พระอาทิตย์ตกตรงช่องประตู 2 ครั้ง ในเดือนมีนาคมและตุลาคม

(2) ปราสาทเมืองต่ำ เป็นเทวสถานลัทธิไศวะนิกาย ตั้งอยู่บนที่ราบห่างจากเขาพนมรุ้งมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 8 กิโลเมตร เป็นปราสาทที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในด้านการวางผังที่สวยงาม สมดุล และมีลวดลายภาพสลักที่งดงามประณีต แผนผังปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ก่อล้อมด้วยกำแพงสร้างจากศิลาแลง มีโคปุระตั้งอยู่ที่กึ่งกลางกำแพงทั้งสี่ทิศ ลานด้านในประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างที่ได้สัดส่วนงดงาม มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร คือสระน้ำรูปตัวแอลที่ตั้งอยู่อย่างสมมาตรที่มุม ทั้งสี่ด้าน โดยแต่ละมุมของสระประดับด้วยเศียรนาค 5 เศียร ที่ไม่มีเครื่องประดับศีรษะ ลำตัวทอดยาวเป็นขอบสระ แต่ละสระแยกออกจากกันด้วยทางเดินที่นำเข้าสู่ลานชั้นในทั้ง 4 ทิศ อันเป็นที่ตั้งของปราสาทอิฐ 5 หลัง ตั้งเรียงกันเป็น 2 แถว อยู่บนฐานเดียวกัน ซึ่งทำให้ ดูเหมือนประหนึ่งมีสายน้ำล้อมรอบเกาะ มีการวิเคราะห์รูปแบบตัวอักษรจากจารึกซึ่งพบในบริเวณปราสาทเมืองต่ำ จากการดำเนินงานทางโบราณคดีและการอนุรักษ์โบราณสถาน ทำให้สามารถกำหนดอายุปราสาทเมืองต่ำอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16

(3) ปราสาทเขาปลายบัด 1 และ 2 ตั้งอยู่บนเขาปลายบัด ซึ่งเป็นภูเขาไฟลูกโดดที่ดับแล้วเช่นเดียวกับเขาพนมรุ้ง มีการก่อสร้างปราสาท 2 หลัง คือ ปราสาทปลายบัด 1 อยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขา และปราสาทปลายบัด 2 อยู่ทางทิศตะวันตกของภูเขา จากการดำเนินงาน ทางโบราณคดีและการบินสำรวจด้วยเทคโนโลยีสำรวจงานภูมิศาสตร์ (Light Detection and Ranging - Lidar) ทำให้ได้ข้อมูลความสูงของพื้นผิว ภูมิประเทศ พบหลักฐานปราสาทปลายบัดมีรูปแบบการวางแผนผังตามแกนทิศ พุ่งขึ้นสู่ศูนย์กลางเช่นเดียวกับปราสาทพนมรุ้ง โดยมีฉนวนทางเดินทอดยาวมาทางทิศตะวันออก และมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เชิงเขาในลักษณะเดียวกับปราสาทพนมรุ้ง และจากการขุดแต่งทางโบราณคดีพบว่า ตัวปราสาทปลายบัด 1 มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับปรางค์น้อยที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธานปราสาทพนมรุ้ง

โดยมีการนำเสนอเพื่อขอบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลกด้วยหลักเกณฑ์คุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากล จำนวน 3 เกณฑ์ ได้แก่

(1) หลักเกณฑ์ข้อที่ 3 เป็นประจักษ์พยานเพียงหนึ่งเดียวหรืออย่างน้อยมีลักษณะพิเศษของการสืบทอดทางวัฒนธรรม หรือของอารยธรรมที่ดำรงต่อเนื่องอยู่หรือที่สูญหายไปแล้ว

(2) หลักเกณฑ์ข้อที่ 4 เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างกลุ่มสถาปัตยกรรมหรือกลุ่มเทคโนโลยี หรือลักษณะภูมิประเทศของภูมิทัศน์ซึ่งแสดงถึงช่วงเวลาที่สำคัญช่วงหนึ่งหรือหลายช่วงในประวัติศาสตร์ของมนุษย์

(3) หลักเกณฑ์ข้อที่ 5 เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ การใช้พื้นที่ทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งเป็นตัวแทนของวัฒนธรรม หรือปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสิ่งเหล่านั้นเสื่อมสลายได้ง่ายจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมตามกาลเวลา

ทั้งนี้ ได้มีการเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันและโบราณสถานต่าง ๆ ได้แก่ ปราสาทวัดภู และการตั้งถิ่นฐานสมัยโบราณที่เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่ภูมิทัศน์วัฒนธรรมนครจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และปราสาทพระวิหารราชอาณาจักรกัมพูชา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 เมษายน 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ