ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..)

ข่าวการเมือง Wednesday April 17, 2019 14:32 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..) (การยกเว้นอากรขาเข้ายาในกลุ่มยากำพร้า)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..) (การยกเว้นอากรขาเข้ายาในกลุ่มยากำพร้า) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและ ร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

2. ให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

3. ให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

กค. เสนอว่า

1. ได้มีประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง บัญชีรายการยากำพร้า พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2561 โดยประกาศดังกล่าวได้กำหนดรายการยากำพร้า ซึ่งเป็นยาที่จำเป็นต่อการให้บริการแก่ผู้ป่วย ใช้เพื่อวินิจฉัย บรรเทา บำบัด ป้องกัน หรือรักษาโรคที่พบได้น้อย หรือโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรง หรือโรคที่ก่อให้เกิดความทุพพลภาพอย่างต่อเนื่อง หรือยาที่มีอัตราการใช้ต่ำ รวม 75 รายการ โดยปัจจุบันมีจำหน่ายในประเทศ รวม 47 รายการ เช่น Hydralazine Labetalol (รักษาความดันโลหิตสูง และภาวะหัวใจวาย) โดยเป็นยาที่มีทะเบียนตำรับยา รวม 36 รายการ เช่น Ampicillin (ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) Digoxin (รักษาภาวะหัวใจวายหรือเต้นผิดปกติ) ไม่มีทะเบียนตำรับยา รวม 11 รายการ เช่น Diphenhydramine (บรรเทาอาการแพ้) Phenol (บรรเทาอาการเจ็บคอ เจ็บช่องปาก และแผลร้อนใน) และไม่มีจำหน่ายในประเทศรวม 28 รายการ เช่น Pyrimethamine (ป้องกันโรคมาลาเรีย) Metyrapone (วินิจฉัยการทำงานของต่อมหมวกไต)

2. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ยากำพร้าส่วนใหญ่ไม่มีผลิตในประเทศ เนื่องจากไม่คุ้มกับการลงทุน ทำให้ประสบกับปัญหาการขาดแคลน และไม่มียาอื่นมาใช้ทดแทน หรือยากำพร้าบางรายการมีราคาที่สูงมาก ทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงยาได้ยาก ทั้งนี้ ในปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้ายากำพร้าที่มีทะเบียนตำรับยาประมาณ 186 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้มีการขึ้นทะเบียนตำรับยากำพร้าและนำเข้ายากำพร้าที่มีความจำเป็นและไม่มีผลิตในประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้สามารถเข้าถึงยากำพร้าได้มากขึ้น จึงเห็นควรยกเว้นอากรขาเข้ายาในกลุ่มยากำพร้า เพื่อส่งเสริมให้มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาและมีการนำเข้ายาดังกล่าวที่มีความจำเป็นและไม่มีผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้สามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น กล่าวคือยกเว้นอากรขาเข้าผลิตภัณฑ์ยารักษาหรือป้องกันโรคในตอนที่ 30 เฉพาะที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และระบุ (P) ต่อท้ายในเลขทะเบียนตำรับยา เว้นแต่ยาที่มีการผลิตในประเทศ 11 รายการ

3. กค. ได้ดำเนินการจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับ ตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งการยกเว้นอากรขาเข้ายาในกลุ่มยากำพร้า จะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐประมาณ 20 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การยกเว้นอากรขาเข้ายาในกลุ่มยากำพร้าจะเป็นการส่งเสริมให้มีการจดทะเบียนตำรับยาและมีการนำเข้ายากำพร้าที่มีความจำเป็นและไม่มีผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น ประชาชนสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น และไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและพัฒนายาในประเทศ จึงได้เสนอร่างประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างประกาศ

ยกเว้นอากรขาเข้าผลิตภัณฑ์ยารักษาหรือป้องกันโรค ตอนที่ 30 ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม ของบัญชีท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 เฉพาะที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และระบุ (P) ต่อท้ายในเลขทะเบียนตำรับยา เว้นแต่ยาที่มีการผลิตในประเทศ รวม 11 รายการ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 เมษายน 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ