ขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม

ข่าวการเมือง Tuesday May 28, 2019 18:54 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่ - มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม ในวงเงิน 66,848.323 ล้านบาท(รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7) ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (ปีงบประมาณ 2561 – 2568) โดยดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e- bidding) ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หรือที่ประกาศใช้ล่าสุด และเพื่อความคล่องตัวในการบริหารงบประมาณของ รฟท. ให้ รฟท. มีอำนาจในการปรับปรุงรายละเอียดด้านงบประมาณ ค่าก่อสร้าง ค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าเวนคืนที่ดิน และรายละเอียดอื่น ๆ ที่สำคัญภายใต้กรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ

2. ให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการทั้งสิ้นโดยให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณรายปี และหรือกระทรวงการคลัง (กค.) จัดหาแหล่งเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศให้ตามความเหมาะสม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ รายละเอียดตามแผนการดำเนินงานและแผนการเบิกจ่ายเงินที่เสนอมา ทั้งนี้ เห็นชอบให้ดำเนินโครงการฯ โดยอนุญาตให้ รฟท. กู้เงินได้ตามพระราชบัญญัติการรถไฟ แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 (พระราชบัญญัติการรถไฟฯ) มาตรา 39 (4)

3. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนของโครงการ โดยให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาต่อไป และให้ รฟท. นำความเห็นของคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (คณะกรรมการ รฟท.) ไปดำเนินการต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม ในวงเงิน 66,848.33 ล้านบาท โดยให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 - 2565 ในแผนงานการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง (การพัฒนาเส้นทางสายใหม่) ระยะที่ 3 และอยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2560 (Action Plan) รวมทั้งโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งตามแนวตะวันออก – ตะวันตก (East-West Corridor) การพัฒนา โครงข่ายรถไฟตามแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันออก – ตะวันตก ตอนบน (Upper East – West Economic Corridor) ช่วงแม่สอด – พิษณุโลก – เพชรบูรณ์ – ขอนแก่น – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร โดยเป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ จำนวน 2 ทาง ความกว้างของรางขนาด 1 เมตร ระยะทางประมาณ 355 กิโลเมตร มีสถานีใหม่ 30 สถานี 1 ชุมทาง ลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง และย่านกองเก็บตู้สินค้า 3 แห่ง ผ่านพื้นที่ทั้งหมด 70 ตำบล 19 อำเภอ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคามจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดนครพนม คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนมกราคม 2564 และจะเปิดให้บริการได้ในเดือนมกราคม 2568 และจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟ ช่วงชุมทางจิระ- ขอนแก่น ช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ และศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนมที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง และโครงการรถไฟ ช่วงแม่สอด – ตาก – กำแพงเพชร- นครสวรรค์ บ้านไผ่ที่อยู่ระหว่างการศึกษา/ออกแบบโครงการ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการเชื่อมโยงจากท่าเรือย่างกุ้งและท่าเรือละแหม่งในประเทศเมียนมาไปยังท่าเรือดานังและท่าเรือไฮฟองในประเทศเวียดนาม และยังสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศจีนได้ด้วย คค. คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสาร 3,835,260 คน ในปี 2569 ซึ่งจะเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 2.37 ต่อปี และมีปริมาณการขนส่งสินค้า 748,453 ตัน ในปี 2569 ซึ่งจะเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 1.19 ต่อปี โครงการนี้จะมีผลตอบแทนทางการเงินที่ ร้อยละ 0.42 และผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ที่ ร้อยละ 13.49

2. ในส่วนของแหล่งเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการนั้นกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ มีความเห็นสอดคล้องกันว่าให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินงบประมาณประจำปีให้กับ รฟท. เป็นค่าที่ปรึกษาสำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืน ค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ และค่าจ้างที่ปรึกษาประกวดราคา วงเงินรวม 10,255.33 ล้านบาท สำหรับค่าก่อสร้าง จำนวน 55,462.00 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง จำนวน 1,131 ล้านบาท (รวมเป็นเงิน 56,543.00ล้านบาท) ให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้จากแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสม และให้ รฟท. กู้ต่อโดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณาจัดลำดับความสำคัญในการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไขและรายละเอียดต่าง ๆ ตามความเหมาะสมและจำเป็นต่อไป และให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นงบชำระหนี้ให้แก่ รฟท. เพื่อใช้ชำระหนี้คืนแก่แหล่งเงินโดยตรง ทั้งในส่วนขอเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ รฟท. ดำเนินโครงการและอนุมัติให้ รฟท. กู้เงินแล้ว ให้ รฟท. เสนอความต้องการกู้เงิน เพื่อบรรจุโครงการเงินกู้ไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 พฤษภาคม 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ