การเข้าร่วมเป็นสมาชิก The Asia Protected Areas Partnership (APAP)

ข่าวการเมือง Tuesday June 11, 2019 18:28 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าร่วมเป็นสมาชิก The Asia Protected Areas Partnership (APAP) (เป็นเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการดูแลพื้นที่คุ้มครองในภูมิภาคเอเชีย) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

The Asia Protected Areas Partnership (APAP) เป็นเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลพื้นที่คุ้มครอง (เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตอนุรักษ์ต่าง ๆ ) และหน่วยงานอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดย APAP เป็นข้อริเริ่มภาคสมัครใจแบบไม่เป็นทางการมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้พื้นที่คุ้มครองมีการอนุรักษ์ที่ดีขึ้น มีสมาชิกเป็นหน่วยงานภาครัฐ 17 หน่วยงาน จาก 14 ประเทศ เป็นประเทศสมาชิกอาเซียน จำนวน 4 ประเทศ คือ ราชอาณาจักรกัมพูชา มาเลเซีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งการเข้าร่วมเป็นสมาชิก APAP ทำได้โดยการยื่นแบบตอบรับเข้าร่วมเป็นสมาชิก และจะมีผลเป็นสมาชิก APAP ได้ทันทีเมื่อยื่นคำร้องขออย่างเป็นทางการไปยังสำนักงานเลขาธิการ APAP แล้ว โดยไม่มีค่าใช้จ่ายและ APAP จะไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมสมาชิก ซึ่งสามารถถอนตัวจากการเป็นสมาชิกเมื่อใดก็ได้โดยขอให้มีการแจ้งล่วงหน้า

วัตถุประสงค์ของ APAP คือ 1) ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ดีและนวัตกรรมสำหรับพื้นที่คุ้มครองผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และการเสริมสร้างศักยภาพ 2) ส่งเสริมความร่วมมือข้ามพรมแดนและในระดับภูมิภาคเพื่อทำให้การอนุรักษ์พื้นที่คุ้มครองมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 3) เพิ่มความตระหนักรู้ต่อคุณค่าของพื้นที่คุ้มครองทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชีย

สำหรับประโยชน์ของการเข้าร่วมเป็นสมาชิก APAP มีดังนี้

1) เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีด้านการอนุรักษ์ของประเทศไทยในระดับนานาชาติ ในการสร้างความเข้มแข็ง ความร่วมมือ และการพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองร่วมกันกับประเทศสมาชิกในระดับภูมิภาคเอเชีย

2) เป็นการสร้างโอกาสให้ประเทศไทยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ พัฒนาองค์ความรู้ และส่งเสริมแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองที่มีประสิทธิภาพร่วมกันกับประเทศสมาชิกในระดับภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งเป็นการสร้างพันธมิตรและเครือข่ายด้านการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ในระดับนานาชาติ

3) การเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

4) การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านการจัดการพื้นที่คุ้มครองของประเทศไทย

5) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนากรอบความร่วมมือข้ามพรมแดนระหว่างพื้นที่คุ้มครองของไทยซึ่งมีอาณาเขตติดกับประเทศเพื่อนบ้าน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 มิถุนายน 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ