ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรี G 20 ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานและสิ่งแวดล้อมโลกเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ข่าวการเมือง Tuesday June 11, 2019 18:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุม G 20 Ministerial Meeting on Energy Transitions and Global Environment for Sustainable Growth ได้แก่ 1 ) แถลงการณ์ G20 Communique (joint Part ) 2) G 20 Communique (Energy Part) 3) G20 Innovation Action Plan และ 4) G 20 Energy Innovation Action Plan และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยให้การับรองร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารข้างต้นในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้พิจารณาโดยไม่ต้องนำกลับไปเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ

เนื่องจากผู้แทนจากกระทรวงพลังงานจะเข้าร่วมการประชุม G 20 Ministerial Meeting on Energy Transitions and Global Environment for Sustainable Growth ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายน 2562 โดยที่ประชุมดังกล่าวจะร่วมกันรับรองแถลงการณ์ (Communique) และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมในด้านพลังงาน ดังนี้

1) G20 Communique (Joint Part )

1.1 รับรู้ถึงความสำคัญของการเป็นผู้นำในด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อที่จะตระหนักในเรื่อง “3 E + S” (ความมั่งคงทางพลังงาน ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม) และจัดการกับประเด็นความท้าทายหลักระดับโลกต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ทรัพยากรที่ไม่ยั่งยืน มลพิษทางน้ำและอากาศ และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมการทำงานร่วมกันเมื่อต้องต่อสู้กับปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและตอบสนองต่อมิติด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030

1.2. ตระหนักถึงวงจรที่ดีงาม (Virtuous Cycle) และนำการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่มีความยืดหยุ่นและยั่งยืน ในขณะเดียวกันต้องสร้างความมั่นใจในความมั่นคงด้านพลังงาน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมลพิษอื่นๆ รวมถึงการปรับปรุงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ควรเน้นการรวบรวมภูมิปัญญาจากทั่วโลก การระดมทุนและการลงทุน และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสังคม

2) G 20 Communique (Energy Part)

2.1 เน้นย้ำถึงความรับผิดชอบของรัฐมนตรีพลังงาน G 20 ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่ระบบที่เข้าถึงได้ มีความน่าเชื่อถือ มีความยั่งยืน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาด ความร่วมมือในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงการออกนโยบาย ความช่วยเหลือด้านการเงิน และการทำให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเหมาะสมต่อการส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมด้านพลังงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030

2.2. รัฐมนตรีพลังงาน G 20 จะส่งเสริมการใช้แหล่งพลังงานสะอาดต่างๆและอำนวยความสะดวกให้เกิดตลาดพลังงานที่เปิดกว้าง โปร่งใส และแข่งขันได้

3) G20 Innovation Action Plan

3.1 G 20 Innovation Action Plan เป็นแผนปฏิบัติการด้านนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยตะหนักถึงความมั่งคงทางพลังงาน ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม โดยสมาชิก G 20 จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภาคส่วนธุรกิจในการพัฒนานวัตกรรมและทำให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจดียิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาระบบพลังงานที่มีราคาไม่แพง เชื่อถือได้ มีความยั่งยืน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้บรรลุไปยังอนาคตที่สะอาดและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

3.2 แผนปฏิบัติการดังกล่าวจะระบุถึงการดำเนินงานในด้านต่างๆที่สำคัญได้แก่ 1) การรวบรวมแนวคิดจากทั่วโลกเพื่อการส่งเสริมนวัตกรรม 2) การขับเคลื่อนการเงินภาคธุรกิจและการลงทุนเพื่อพัฒนาและปรับใช้นวัตกรรม และ 3) การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและสนับสนุนกิจกรรมทางธุรกิจเพื่อแพร่ขยายเทคโนโลยีทางนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน

4) G 20 Energy Innovation Action Plan

4.1 G 20 Energy Innovation Action Plan เป็นแผนปฏิบัติการด้านนวัตกรรมทางพลังงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานบนพื้นฐานของความสมัครใจของแต่ละประเทศ โดยการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานที่มีความสะอาด ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

4.2 แผนปฏิบัติการดังกล่าวเน้นย้ำถึงการเสริมสร้างความร่วมมือด้านนวัตกรรมพลังงาน ผ่านการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ การวิจัยร่วมกัน การระบุอุปสรรค การกำกับดูแลหลักเกณฑ์และมาตรฐาน รวมถึงการหารือร่วมกันทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 มิถุนายน 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ