ขออนุมัติดำเนินงานโครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง

ข่าวการเมือง Tuesday September 17, 2019 18:01 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินงานโครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

ส่วนค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง จะต้องตรวจสอบพื้นที่และจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบให้ถูกต้องครบถ้วน โดยคำนึงถึงภารกิจของหน่วยงาน ความพร้อม ศักยภาพและความสามารถ วิธีการดำเนินการที่โปร่งใส ส่วนแหล่งเงินและอัตราค่าใช้จ่าย เห็นสมควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณในโอกาสแรกก่อน และ/หรือปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายในบางกรณี พ.ศ. 2559 แล้วแต่กรณี และเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลังพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนขอทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนัยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 โดยการดำเนินโครงการจะต้องดำเนินการในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น และไม่ให้มีความซ้ำซ้อนกับโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ประสบปัญหาโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังของกระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนกำหนดให้มีคู่มือ หลักเกณฑ์ ขั้นตอน ในการขอรับจัดสรรงบประมาณ การเบิกจ่าย การติดตามและการรายงานผลการดำเนินโครงการเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน การกำกับดูแล และตรวจสอบการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญ

โครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. วัตถุประสงค์ของโครงการ

เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังไม่ให้แพร่ระบาดไปยังพื้นที่แห่งใหม่ และเพื่อชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง

2. เป้าหมายการดำเนินงาน

พื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 50 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี นครราชสีมา สระแก้ว สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เพชรบุรี แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน เลย สกลนคร สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ และจังหวัดอุทัยธานี

3. ระยะเวลาดำเนินโครงการ ดังนี้

3.1 ระยะเวลาดำเนินโครงการ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – กันยายน 2563

3.2 ระยะเวลาแจ้งข้อมูลการพบต้นมันสำปะหลังที่แสดงอาการใบด่าง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 – 6 พฤศจิการยน 2562

3.3 ระยะเวลาการจ่ายเงินช่วยเหลือ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึงเดือนกันยายน 2563

4. กิจกรรม ประกอบด้วย

4.1 สร้างการรับรู้ในเรื่องโรคใบด่างมันสำปะหลังและการป้องกันกำจัดและชี้แจงการดำเนินโครงการให้กับเจ้าหน้าที่และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ

4.2 จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินโครงการและสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วไปให้มีความรู้ ความเข้าใจ และเกิดความตะหนักต่อโรคใบด่างมันสำปะหลัง เพื่อการป้องกันกำจัดร่วมกัน

4.3 กำจัดต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่างและแมลงหวี่ขาวยาสูบพาหะนำโรค เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรค

4.4 ชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบจากโรคใบด่าง ที่ต้องทำลายแปลงและไม่ได้รับผลผลิต

4.5 ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ท่อนพันธุ์สะอาด พร้อมใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุมการนำเข้าท่อนพันธุ์จากต่างประเทศและการขนย้ายท่อนพันธุ์ภายในประเทศ

4.6 สำรวจ ติดตามสถานการณ์การระบาดของใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วไป และพื้นที่ปลูกที่เคยพบการระบาดและดำเนินการทำลายแล้ว เพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนหากเกิดการระบาดซ้ำ

4.7 ติดตามประเมินผลโครงการ เพื่อแสดงถึงผลสำเร็จและผลกระทบของการดำเนินโครงการฯ

5. การขับเคลื่อน ส่วนกลาง ประกอบด้วย กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และระดับจังหวัด คณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับจังหวัด (อพก. จังหวัด) มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานอนุกรรมการ หน่วยงานต่าง ๆ ระดับพื้นที่ เป็นอนุกรรมการ และเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ประสานการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดกับหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ให้คณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับจังหวัด (อพก. จังหวัด) ดำเนินการตรวจสอบข้อมูล ประเมินความเสียหาย ความถูกต้องของข้อมูลเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย ตามที่เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรและ/หรือกรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ตรวจวินิจฉัยพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกร รวมทั้งกำกับดูแลและติดตามการระบาดของโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง การรับรองผลของโรค หลังจากกรมวิชาการเกษตรตรวจวินิจฉัยและรับรองผลการเป็นโรคแล้วส่งผลการรับรองให้ อพก. จังหวัด พิจารณาประเมินความเสียหาย ตรวจสอบข้อมูลของเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดและต้องมีการทำลายทิ้งทั้งแปลง การตรวจสอบและพิจารณาจ่ายเงิน อพก. จังหวัด ตรวจสอบ กลั่นกรองข้อมูล และพิจารณาให้ความเห็นชอบการจ่ายเงินช่วยเหลือให้เกษตรกรตามวิธีการดำเนินการและเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือ ภายใน 3 – 5 วันทำการ

6. เกณฑ์การจ่ายเงินชดเชย เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่จะได้รับการชดเชยต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

6.1 ได้รับการยืนยันความเป็นโรคใบด่างมันสำปะหลังจากกรมวิชาการเกษตรและได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบการจ่ายเงินช่วยเหลือให้เกษตรกร จาก อพก. จังหวัด

6.2 ต้องยินยอมให้ถอนทำลายต้นมันสำปะหลังทิ้งตามหลักวิชาการของกรมวิชาการเกษตร

6.3 ปลูกมันสำปะหลังในช่วงเดือนเมษายน 2562 – 6 กันยายน 2562

6.4 มีต้นมันสำปะหลังยืนต้นในแปลง และต้นมันสำปะหลัง มีอายุไม่น้อยกว่า 2 เดือน หรือกรณีเป็นพื้นที่ที่ดำเนินการทำลายแล้ว และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากกระทรวงพาณิชย์

6.5 เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) กับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยเกษตรกรจะได้รับการชดเชยรายละ 3,000 บาทต่อไร่ โดยจะได้รับเงินหลังจากถอนทำลายต้นมันสำปะหลังและหยุดพักการปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ที่มีการทำลายต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยมีเอกสารประกอบการขอรับเงินชดเชย คือ สำเนาบัตรประชาชนของเกษตรกร สำเนาหน้าสมุดบัญชีเงินฝากของเกษตรกร และสำเนาทะเบียนเกษตรกร

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 กันยายน 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ