มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ข่าวการเมือง Tuesday October 1, 2019 18:22 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการขยายเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาและมาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีบัตรฯ ได้ชำระ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สาระสำคัญ

กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอขยายเวลามาตรการบรรเทาฯ และมาตรการชดเชยเงินฯ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. การขยายเวลามาตรการบรรเทาฯ โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

1.1 วัตถุประสงค์ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา เพื่อให้ผู้มีบัตรฯ มีภาระค่าครองชีพลดลง

1.2 การดำเนินการ การขยายเวลามาตรการบรรเทาฯ จะเป็นการดำเนินการคงเดิมตามมติ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 มีสาระสำคัญ ดังนี้

1) กรณีค่าไฟฟ้า ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือนติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้ใช้สิทธิค่าไฟฟ้าฟรีตามมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่หากใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วยต่อเดือน ให้ใช้สิทธิตามมาตรการนี้ในวงเงิน 230 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน กรณีที่ใช้เกินวงเงินที่กำหนด ผู้มีบัตรฯ เป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าทั้งหมด

2) กรณีค่าน้ำประปา ให้ใช้น้ำประปาในวงเงิน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน กรณีที่ใช้เกินวงเงินที่กำหนด ผู้มีบัตรฯ เป็นผู้รับภาระค่าน้ำประปาทั้งหมด

ทั้งนี้ ผู้มีบัตรฯ ต้องนำใบแจ้งค่าไฟฟ้าและใบแจ้งค่าน้ำประปาไปชำระที่สำนักงานการไฟฟ้านครหลวง สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ สำนักงานการประปานครหลวง และสำนักงานการประปาส่วนภูมิภาค พร้อมทั้งแสดงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยทุกสิ้นเดือนการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค จะส่งบันทึกรายชื่อผู้มีบัตรฯ ที่ใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาภายใต้วงเงินที่กำหนดให้กรมบัญชีกลาง เพื่อที่กรมบัญชีกลางจะนำเงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมมาจ่ายคืนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่อง e-Money ของเดือนถัดไป ซึ่งผู้มีบัตรฯ สามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการผ่านเครือง EDC แอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐ และถอนเงินสดจากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติได้

1.3 กลุ่มเป้าหมาย ผู้มีบัตรฯ จำนวน 14.6 ล้านคน คิดเป็นครัวเรือนประมาณ 8.2 ล้านครัวเรือน (1 ครัวเรือนใช้ได้เพียง 1 สิทธิเท่านั้น)

1.4 ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึงเดือนกันยายน 2563 รวมเป็นระยะเวลา 1 ปี

1.5 งบประมาณ ประมาณการสำหรับค่าไฟฟ้า 1,740 ล้านบาทต่อปี (145 ล้านบาทต่อเดือน) ประมาณการสำหรับค่าน้ำประปา 30 ล้านบาทต่อปี (2.50 ล้านบาทต่อเดือน) งบประมาณรวมทั้งสิ้น 1,770 ล้านบาทต่อปี (147.50 ล้านบาทต่อเดือน) โดยจะใช้จ่ายจากเงินกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม

2. มาตรการชดเชยเงินฯ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

2.1 วัตถุประสงค์ เพื่อช่วยลดภาระภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้มีบัตรฯ สนับสนุนให้มีจำนวนผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มขึ้น และส่งเสริมการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด

2.2 การดำเนินการ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

1) ชดเชยเงินให้แก่ผู้มีบัตรฯ โดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีบัตรฯ ได้ชำระราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค (ไม่รวมสินค้าและบริการที่มีภาษีสรรพสามิต) ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากร้านธงฟ้าประชารัฐหรือร้านค้าเอกชนอื่นที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านเครื่อง EDC ที่มีการเชื่อมต่อระบบเครื่อง POS ที่เป็นระบบช่วยเก็บบันทึกการขาย รายละเอียดสินค้า คำนวณยอดขาย และออกใบกำกับภาษี ซึ่งระบบ POS สามารถแยกจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากสินค้าและบริการรวมทั้งรับและส่งข้อมูลจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มได้

2) ข้อมูลจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีบัตรฯ ได้ชำระราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค (ไม่รวมสิ้นค้าและบริการที่มีภาษีสรรพสามิต) ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ร้านตามข้อ 1) จะส่งให้กรมบัญชีกลางโดยระบบจะแยกยอดภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ออกจากราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ผู้มีบัตรฯ ได้ชำระแล้ว และกรมบัญชีกลางจะนำเงินร้อยละ 5 มาจ่ายชดเชยโดยโอนเข้าช่อง e-Money ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้มีบัตรฯ ในวงเงินไม่เกินจำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน

2.3 กลุ่มเป้าหมาย ผู้มีบัตรฯ จำนวน 14.6 ล้านคน

2.4 ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงเดือนกันยายน 2563 (ระยะเวลา 11 เดือน)

2.5 งบประมาณ ประมาณการ 99.30 ล้านบาท (ประมาณ 8.16 ล้านบาทต่อเดือน) โดยจะใช้จ่ายจากเงินกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ครั้งที่ 4/2562 มีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

ผลกระทบ

การดำเนินการขยายเวลามาตรการบรรเทาฯ และมาตรการชดเชยเงินฯ คาดว่าจะส่งผลกระทบ ดังนี้

1. บรรเทาภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ขั้นพื้นฐาน และช่วยลดภาระภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้มีบัตรฯ

2. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการร้านค้าจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้น อันจะเป็นการสร้างฐานภาษีที่ยั่งยืนให้กับประเทศ

3. ส่งเสริมเข้าสู่สังคมไร้เงินสด อันจะช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการเงิน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 ตุลาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ