ขอความเห็นชอบร่างเอกสารที่จะมีการรับรองและลงนามระหว่างการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 25 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ข่าวการเมือง Wednesday November 6, 2019 16:11 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างเอกสารที่จะมีการรับรองและลงนามระหว่างการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 25 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (ในข้อ 1. และข้อ 2.) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองเอกสารในข้อ 1. และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมลงนามในเอกสารข้อ 2. และเมื่อลงนามแล้วให้ส่งเอกสารดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนแสดงเจตนาการมีผลผูกพันของเอกสารต่อไป พร้อมมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายสำหรับการลงนามดังกล่าว และให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการมอบสัตยาบันสารของเอกสารข้อ 2. ให้แก่เลขาธิการอาเซียนเพื่อรับทราบการให้สัตยาบันเมื่อรัฐสภามีมติเห็นชอบเอกสารดังกล่าวแล้วตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน (ASEAN Transport Ministers Meeting: ATM) ครั้งที่ 25 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน – จีน ครั้งที่ 18 การประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 17 และการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 14 – 15 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยในระหว่างการประชุมดังกล่าวจะมีการรับรองเอกสาร 4 ฉบับ และลงนามเอกสาร 2 ฉบับ เป็นผลลัพธ์ของการประชุมและให้การประชุมมีผลเป็นรูปธรรม ดังนี้

1. เอกสารที่จะมีการรับรอง จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่

1.1 ร่างกรอบการดำเนินการตามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Implementation Framework of the ASEAN Framework Agreement on Multimodal Transport) เป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกด้านกรอบทางกฎหมายและความรับผิดชอบสำหรับการบริหารจัดการและการควบคุมการขนส่งแบบครบวงจร (end to end) เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในภาพรวมของบริการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

1.2 ร่างปฏิญญาว่าด้วยการรับรองกรอบการดำเนินการตามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Declaration on the Adoption of the Implementation Framework of the ASEAN Framework Agreement on Multimodal Transport) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของที่ประชุม ATM ในการผลักดันและส่งเสริมการดำเนินการด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของประเทศสมาชิกอาเซียน

1.3 ร่างแผนยุทธศาสตร์อาเซียนว่าด้วยเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ASEAN Green Ship Strategy) เป็นเอกสารที่เสนอโดยญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียน โดยมีเป้าหมายในการลดจำนวนเรือเก่าของประเทศสมาชิกอาเซียน (อายุ 30 ปีขึ้นไป) ที่เดินเรือในภูมิภาคอาเซียนและไม่อยู่ภายใต้การบังคับใช้ของอนุสัญญาองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในภูมิภาคซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

1.4 ร่างพิธีสาร 1 ว่าด้วยเครื่องช่วยฝึกบิน (Protocol 1 on Flight Simulation Training Devices) เป็นพิธีสารแนบท้ายข้อตกลงยอมรับร่วมใบอนุญาตผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำเที่ยวบิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรฐานกระบวนการออกใบรับรองเครื่องช่วยฝึกบินที่ออกโดยประเทศสมาชิกอาเซียน อันเป็นการเพิ่มโอกาสและทางเลือกให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถใช้เครื่องฝึกบินที่ผ่านการรับรองตามเกณฑ์ภายใต้กรอบมาตรฐานที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศกำหนดจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น

2. เอกสารที่จะมีการลงนาม จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่

2.1 ร่างพิธีสารเพื่ออนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 11 ของบริการขนส่งทางอากาศภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (Protocol to Implement the Eleventh Package of Commitments on Air Transport Services under the ASEAN Framework Agreement on Services) มีสาระสำคัญเป็นการยื่นเสนอปรับปรุงข้อเสนอเปิดตลาดบริการซ่อมและบำรุงรักษาอากาศยาน (Aircraft repair and maintenance services) โดยไม่จำกัดสัดส่วนผู้ถือหุ้นของประเทศสมาชิกอาเซียน ภายใต้หลักเกณฑ์และต้องมีคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2562 ซึ่งการเปิดตลาดการซ่อมและบำรุงรักษาอากาศยาน จะยกเว้นการบำรุงรักษาที่ลานจอดอากาศยาน (Line maintenance)

2.2 ร่างพิธีสาร 3 ว่าด้วยการขยายสิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 ระหว่างภาคีคู่สัญญา (Protocol 3 on the Expansion of Fifth Freedom Traffic Rights between Contracting Parties) เป็นพิธีสารแนบท้ายความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศระหว่างอาเซียน – จีน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สายการบินของประเทศสมาชิกอาเซียนและสายการบินของประเทศจีนสามารถใช้สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 ในจุดที่ฝ่ายอาเซียนระบุไว้จำนวน 8 จุด และจุดที่จีนระบุไว้จำนวน 8 จุด ได้อย่างไม่จำกัดจำนวนความจุความถี่และแบบอากาศยาน สำหรับประเทศไทยได้ระบุ 1 จุด คือ ระยอง ทั้งนี้ ร่างพิธีสารนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อประเทศจีนและประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 2 ประเทศให้สัตยาบันและจะมีผลเฉพาะประเทศที่ให้สัตยาบันเท่านั้น

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ