ขออนุมัติเปิดตลาดนำเข้านมผงขาดมันเนย ปี 2562 เพิ่มเติม

ข่าวการเมือง Wednesday December 11, 2019 18:55 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในการอนุมัติเปิดตลาดนำเข้านมผงขาดมันเนยปี 2562 เพิ่มเติม ปริมาณ 2,993.02 ตัน ในอัตราภาษีร้อยละ 5 ตามมติคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมในการประชุมครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 และยกเว้นการจัดสรรโควตาตามสัดส่วนผู้ประกอบการ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 เรื่อง การบริหารจัดการนมทั้งระบบ เนื่องจากเป็นการพิจารณาจัดสรรให้ผู้ประกอบการตามความจำเป็นและเดือดร้อนจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต

2. มอบหมายให้คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมเป็นผู้บริหารการจัดสรรโควตาในข้อ 1. ให้ผู้ประกอบการตามความจำเป็นและเดือดร้อนจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต โดยต้องนำเข้าให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และต้องไม่กระทบต่อมาตรการและปริมาณการรับซื้อน้ำนมโคจากเกษตรกร

สาระสำคัญของเรื่อง

กษ. รายงานว่า

1. คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมเห็นชอบการเปิดตลาดสินค้านมผงขาดมันเนยตามความตกลงการการค้าระหว่างประเทศ ประจำปี 2562 รวม 58,312.74 ตัน โดยเก็บภาษีในโควตาเท่าเดิมตามที่เก็บจริงในอัตราภาษีร้อยละ 5 และแบ่งจัดสรรเป็น 2 กลุ่มโดยผู้ประกอบการในกลุ่มนิติบุคคลที่ 1 (กลุ่มที่รับซื้อน้ำนมดิบ) ได้รับการจัดสรรร้อยละ 80 เป็นจำนวน 46,650.20 ตัน และให้ผู้ประกอบการกลุ่มนิติบุคคลที่ 2 (กลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป) ได้รับการจัดสรรร้อยละ 20 เป็นจำนวน 11,662.54 ตันตามหลักเกณฑ์การพิจารณาจัดสรรโควตานำเข้านมและครีม เครื่องดื่มประเภทนมปรุงแต่ง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ความตกลง/ปริมาณเปิดตลาด (ตัน) WTO และ TAFTA

ปริมาณจัดสรร (ตัน) งวดที่ 1 (ร้อยละ 90) 52,210.42

ความตกลง WTO

กลุ่มนิติบุคคลที่ 1 (ร้อยละ 80) 39,359.08

กลุ่มนิติบุคคลที่ 2 (ร้อยละ 20) 9,839.76

ความตกลง TAFTA

กลุ่มนิติบุคคลที่ 1 (ร้อยละ 80) 2,409.26

กลุ่มนิติบุคคลที่ 2 (ร้อยละ 20) 602.32

ปริมาณจัดสรร (ตัน) งวดที่ 2 (ร้อยละ 10) 5,801.16

ความตกลง WTO

กลุ่มนิติบุคคลที่ 1 (ร้อยละ 80) 4,640.93

กลุ่มนิติบุคคลที่ 2 (ร้อยละ 20) 1,160.23

ความตกลง TAFTA

กลุ่มนิติบุคคลที่ 1 (ร้อยละ 80) -

กลุ่มนิติบุคคลที่ 2 (ร้อยละ 20) -

ความตกลง/ปริมาณเปิดตลาด (ตัน) TAFTA (Specific Quota)

ปริมาณจัดสรร (ตัน) งวดเดียว 301.16

ความตกลง TAFTA

กลุ่มนิติบุคคลที่ 1 (ร้อยละ 80) 240.93

กลุ่มนิติบุคคลที่ 2 (ร้อยละ 20) 60.23

ความตกลง/ปริมาณ เปิดตลาด (ตัน) รวมปริมาณเปิดตลาด

ปริมาณจัดสรร (ตัน) 58,312.74

กลุ่มนิติบุคคลที่ 1 (ร้อยละ 80) 46,650.20

กลุ่มนิติบุคคลที่ 2 (ร้อยละ 20) 11,662.54

2. คณะอนุกรรมการพิจารณาจัดสรรโควตาและอัตราภาษีนำเข้านมผงขาดมันเนย นมดิบ และนมพร้อมดื่มในการประชุมครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 ได้พิจารณาการจัดสรรโควตานำเข้านมผงขาดมันเนยส่วนโควตาคืนและพิจารณาโควตาเพิ่มเติมโดยมีมติเห็นชอบให้เปิดตลาดนำเข้านมผงขาดมันเนยปี 2562 เพิ่มเติม เบื้องต้นปริมาณไม่เกิน 5,719.02 ตัน ในอัตราภาษีร้อยละ 5 เนื่องจากโควตา ปี 2562 จำนวน 58,312.74 ตัน ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ โดยพิจารณาจัดสรรจากความจำเป็นและเดือดร้อนจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับจัดสรรโควตาเพิ่มเติมต้องเป็นผู้นำเข้ารายเดิมและมีรายงานการนำเข้านมผงขาดมันเนยปี 2562 เกินร้อยละ 70 ของโควตาที่ได้รับภายในวันที่ 30 กันยายน 2562 ต่อมาคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมในการประชุมครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ และให้กรมปศุสัตว์แจ้งปริมาณโควตาเพิ่มเติมที่ได้รับพิจารณาภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวไปยังองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้แจ้งปริมาณการขออนุมัติเปิดตลาดนำเข้าฯ เพิ่มเติม เหลือจำนวน 2,993.02 ตัน

3. การขออนุมัติให้เปิดตลาดนำเข้านมผงขาดมันเนย ปี พ.ศ. 2562 เพิ่มเติมปริมาณ 2,993.02 ตัน ในอัตราภาษีร้อยละ 5 ในครั้งนี้ จะจัดสรรให้กับผู้ประกอบการตามความจำเป็นและเดือดร้อนจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต [แบ่งเป็นกลุ่มนิติบุคคลที่ 1 (กลุ่มที่รับซื้อน้ำนมดิบ)จำนวน 740 ตัน และกลุ่มนิติบุคคลที่ 2 (กลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป) จำนวน 2,253.02 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนการจัดสรรโควตา เท่ากับ 24.72 : 75.28] จึงต้องขอยกเว้นการจัดสรรโควตาตามสัดส่วนผู้ประกอบการกลุ่มนิติบุคคลที่ 1 (กลุ่มที่รับซื้อน้ำนมดิบ) กับกลุ่มกับกลุ่มนิติบุคคลที่ 2 (กลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป) ในอัตรา 80 : 20 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548

4. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว พณ. จะดำเนินการประกาศการจัดสรรที่จะออกหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิชำระภาษีในโควตา ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เพื่อทำให้การผลิตและการตลาดภาคธุรกิจของผู้ประกอบการดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงักเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต

5. ผลกระทบ

5.1 ด้านเศรษฐกิจ

การผลิตและการตลาดในภาคธุรกิจของผู้ประกอบการสามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ สำหรับธุรกิจภาคอุตสาหกรรมและอาหารของต่างประเทศที่มีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ในไทย หากสามารถนำเข้านมผงขาดมันเนยได้พอเพียงตามความต้องการ จะทำให้สามารถวางแผนการผลิตล่วงหน้าได้ตลอดทั้งปีและมีนโยบายขยายฐานการผลิตและการลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจในภาพรวม

5.2 ด้านเกษตรกร

ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารโควตานำเข้านมผงขาดมันเนยไม่ให้กระทบต่อมาตรการและปริมาณการรับซื้อน้ำนมโคจากเกษตรกร(ต้องเป็นผู้ประกอบการรายเดิมที่มีรายงานการนำเข้าโควตานมผงขาดมันเนยที่ได้รับจัดสรรเกินร้อยละ 70 ขึ้นไป) และยังมีแผนการผลิตและแผนการรับซื้อน้ำนมโคร่วมกันระหว่างองค์กรเกษตรกรโคนมและผู้ประกอบการการแปรรูปนมทั้งระบบ โดยได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงการบริหารจัดการน้ำนมโคทั้งระบบร่วมกันแล้ว

5.3 ด้านผู้บริโภค

ผู้บริโภคจะได้รับผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจากนมหลายชนิดในราคาถูก หากการดำเนินการทางธุรกิจดังกล่าวไม่หยุดชะงักและไม่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากต่างประเทศที่มีราคาสูงเข้ามาทดแทน ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าที่มีส่วนประกอบของนมมีราคาแพงขึ้น

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 ธันวาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ